วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร อ.บัวเชด จ.สุรินทร์
   
  วัดเขาศาลา watkaosala.com
  กิจวัตรของพระป่า
 

กิจวัตรของพระป่า


สังคมแบบพระพุทธศาสนา

พระพุทธศาสนาเป็นตัวอย่างของสังคมประชาธิปไตย และสังคมนิยม ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบวชเป็นสมาชิกของวัดก็ต้องผ่านการลงมติของคณะสงฆ์เสียก่อน สิ่งของต่าง ๆ ที่มีผู้ถวายแก่วัด จะเป็นสมบัติส่วนของคณะสงฆ์ ภิกษุผู้ใดจะเอาไปเป็นของส่วนตัวไม่ได้ ทุกคนมีส่วนเป็นเจ้าของร่วมกัน ถ้าเกิดมีกรณีพิพาทกันก็ต้องตั้งกรรมการขึ้นมาพิจารณามีระบบอาวุโส มีการคารวะระหว่างกัน การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นการสมัครใจไม่มีการบังคับ ถ้าไม่พอใจก็ออกจากสังคมนี้ไป

ในวัดป่าได้ใช้ระบบดังกล่าวอย่างเคร่งครัด เมื่อมีลาภสิ่งใดมาสู่วัด สมภารจะเป็นผู้สั่งให้แจกจ่ายหรือเก็บไว้เป็นสมบัติส่วนกลาง พระภิกษุรูปใดขาดแคลนก็จะได้รับไปก่อนหรือได้รับมากกว่ารูปอื่น อาหารที่บิณฑบาตได้ จะนำมารวมกันก่อน แล้วจึงแจกไปให้ทั่วกัน ผ้าที่ได้จากกฐินหรือผ้าป่าก็นำมาไว้เป็นกองกลาง ภิกษุรูปใดมีจีวรเก่า และชำรุดมากแล้ว สมภารจเป็นผู้สั่งจ่ายให้ตามความจำเป็น ปัจจัยที่มีผู้นำมาถวายวัด จะนำเข้าบัญชีของวัด


การขบฉัน พระป่าถือหลักฉันน้อยเป็นประจำ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในระหว่างที่เร่งความพากเพียร เช่นระหว่างพรรษา ยิ่งฉันน้อยลงไปอีก บางรูปไม่ฉันเสียหลายวัน ท่านว่าทำให้จิตโปร่งและภาวนาได้ดี นอกจากระวังไม่ฉันมากแล้ว ท่านยังระวังไม้ให้ติดรสอาหารอีกด้วย โดยหลักเลี่ยงอาหารที่รสอร่อย เพราะเกรงว่าจะติดสุขในเวลาฉัน ต้องพิจารณาตามแบบที่พระพุทธเจ้าสอน คือ ให้กินเพื่ออยู่ ท่านจะเงียบสงบระหว่างฉัน ไม่พูดจากัน เพราะท่านต้องเพ่งพิจารณาอาหารด้วย

วัดป่าสายหลวงปู่มั่น มีระเบียบเกี่ยวกับการฉันเป็นอย่างเดียวกัน คือ ฉันมื้อเดียวในตอนสาย ฉันอาหารที่ได้จากบิณฑบาต และฉันในบาตร มีเฉพาะน้ำและสิ่งที่ใช้ดื่มเท่านั้นที่ใส่ถ้วยไว้นอกบาตรได้ ดังนั้นพระป่าต้องออกบิณฑบาตทุกวัน นอกจากอาพาธหรือเดินไม่ได้ ธรรมดาวัดป่าจะอยู่ห่างจากหมู่บ้าน เพื่อให้พ้นจากการรบกวนจากคน สัตว์ และเสียง แต่จะต้องไม่ไกลเกินไปจนเดินไปบิณฑบาตไม่ไหว โดยมากจะอยู่ห่างจากหมู่บ้านประมาณสองถึงสามกิโลเมตร พอจะเดินไปกลับได้ภายในหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ตามปกติจะออกจากวัดประมาณ หกโมงเช้าเศษ หลังจากทำความสะอาดตอนเช้าเสร็จ ก่อนจะออกบิณฑบาตต้องจัดบาตรให้พร้อมโดยผูกมัดบาตรให้แน่น และเรียบร้อย ท่านจะสะพายบาตรไปบิณฑบาต เวลาออกจากวัดจะเดินไปเป็นกลุ่ม พระภิกษุผู้น้อยจะอยู่ข้างหน้า พระผู้ใหญ่อยู่ข้างหลัง พอเข้าเขตบ้านพระภิกษุข้างหน้าจะหยุดคอยให้พระผู้ใหญ่นำเดินเข้าหมู่บ้านเป็นแถวเรียงหนึ่ง ตามลำดับอาวุโส และรับอาหารอย่างเป็นระเบียบน่าดู เมื่อรับไปทั่วแล้วก็วกกลับวัด บางทีพระผู้น้อยจะรับบาตรของพระผู้ใหญ่ไปสะพายแทน บางทีชาวบ้านขออาสาสะพายหรืออุ้มบาตรไปส่งจนถึงวัด 


การฉันภัตตาหารพระภิกษุทุกรูปจะขึ้นไปรวมบนศาลาที่นั่งฉัน แล้วเข้าที่นั่งฉันจัดอาหารลงบาตร ที่นั่งนั้นได้จัดปูอาสนะไว้เรียบร้อยก่อนออกบิณฑบาต การนั่งจะเรียงตามอาวุโส พระภิกษุทุกรูปจะถ่ายบาตรเอาอาหารใส่ลงในถาดที่วางไว้เป็นของกลาง พระภิกษุที่เป็นเจ้าหน้าที่ยกถาดไปถวายให้สมภารก่อนแล้ว จึงส่งต่อไปตามลำดับ อาหารที่เลือกไว้แต่ละรูป จะจัดลงในบาตรเพื่อจะฉันต่อไป เสร็จแล้วเอาผ้าปิดปากบาตรไว้ คอยจนเสร็จพร้อมกัน พระภิกษุที่เป็นประธานว่าบท ยถา..สัพพี เสร็จแล้วจึงเปิดผ้าคลุมบาตรขึ้นพร้อมกัน พิจารณาอาหารในบาตรตามหลักที่พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ เช่น ให้สำนึกว่าฉันภัตตาหาร เพื่อให้คลายทุกข์ที่เกิดจากความหิว ไม่ใช่เพื่อความมีรสอร่อย ฯลฯ เสร็จแล้วจึงเริ่มฉันระหว่างนั้นไม่มีการพูดจากัน เพราะต่างก็พิจารณาไปเรื่อย ๆ เมื่อฉันเสร็จก็เช็ดถูพื้นศาลาตรงบริเวณที่ตัวนั่ง ยกบาตรออก เก็บเครื่องปูลาดเข้าที่ อาหารเหลือก้นบาตรเทลงถาดมอบให้แก่ผู้ที่ต้องการ นำบาตรไปล้างและเช็ดถูจนสะอาดแล้วคว่ำผึ่งแดดให้แห้ง
บาตรเป็นบริขารที่สำคัญยิ่งสำหรับพระป่า จะไปไหนต้องเอาไปด้วยเสมอ บาตรมักจะใหญ่กว่าบาตรของพระบ้าน แต่เป็นเพราะท่านถือธุดงค์ฉันในบาตร ถ้าบาตรแคบจะฉันไม่สะดวก นอกจากนั้นเวลาท่านเดินทางยังใช้บาตรบรรจุเครื่องอัฐบริขารต่าง ๆ แล้วสะพายไปจึงต้องรักษาบาตรให้สะอาด แล้วผึ่งแดดให้แห้งสนิท ต้องรักษาไม่ให้เกิดสนิม

การอบรมและการปฏิบัติ

การอบรมของพระป่า ดำเนินตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างเคร่งครัด สิ่งที่สำคัญที่สุดประการหนึ่งคือพระอาจารย์ ซึ่งเป็นผู้ที่พระป่าต้องพยายามเสาะหาอย่างยิ่ง เพื่อให้ได้อุปนิสัยใจคอที่เข้ากันได้ แม้กระทั่งคำพูดและวิธีการพูดที่ทำให้เข้าใจกันง่าย ในการปฏิบัติภาวนานั้น เป็นการยากที่ผู้ปฏิบัติจะฟันฝ่าอุปสรรคต่าง ๆ นานาไปจนถึงจุดหมายปลายทางได้โดยลำพังตนเอง จำเป็นต้องมีอาจารย์คอยช่วยแนะนำ อาจารย์ที่ดีย่อมให้โอกาสแก่ศิษย์ทุกคน ตั้งใจอบรมสั่งสอน แนะช่องทางสำหรับการก้าวหน้า เอาใจใส่ในทุกข์สุขการกินอยู่ การเจ็บไข้ได้ป่วย และความต้องการอื่น ๆ ให้ความอนุเคราะห์ทุก ๆ อย่าง ท่านต้องทำตัวเป็นทั้งพระอาจารย์และพ่อแม่ และศิษย์ก็ตอบแทนท่านอย่างกับอาจารย์ และบิดามารดารวมกัน เวลาพูดถึงอาจารย์ พระป่าจะเรียกท่านว่า พ่อแม่ ครู อาจารย์ ทุกครั้ง การปฏิบัติอาจริยวัตรก็เป็นไปโดยสมบูรณ์แบบเสมอ 

ศีล
จากวัดป่าจะเน้นเรื่องศีล พระป่าทุกรูปจะต้องรักษาศีลอย่างบริสุทธิ์ไม่ให้มีด่างพร้อย ในไตรสิกขา ศีลเป็นข้อที่ง่ายที่สุด และเท่ากับเป็นเครื่องทดสอบพระภิกษุ เพราะการรักษาศีลต้องการเพียงความตั้งใจเท่านั้น ถ้าผู้ใดรักษาศีลให้บริสุทธิ์ไม่ได้ ผู้นั้นก็ไม่มีหวังที่จะก้าวหน้าไปถึงธรรมชั้นสูง ศีลเป็นเครื่องรองรับหรือเป็นฐานของสมาธิ ทำให้สมาธิเกิดง่าย และตั้งอยู่โดยมั่นคง ศีล ๒๒๗ ข้อ พระป่าไม่เพียงแต่รักษาทุกข้อ แต่ท่านรักษาถึงทุกตัวอักษรทีเดียว

ภาวนา ในวัดป่าการไหว้พระสวดมนต์รวมกันนั้นมีน้อยโดยมากกระทำเฉพาะวันพระที่มีการสวดปาฏิโมกข์ ในวันธรรมดาต่างรูปต่างสวดในกุฏิของตนเอาตามความพอใจ ตามธรรมดาพอฉันเสร็จจัดการเรื่องบาตรเรียบร้อยแล้ว กลับถึงกุฏิก็จะทำการภาวนา ส่วนมากมักเริ่มด้วยการเดินจงกรม เพื่อแก้อาการง่วง ซึ่งอาจเกิดขึ้นภายหลังอาหาร ใกล้ ๆ กับกุฏิทุกหลังจะมีทางเดินจงกรมสร้างไว้ มีขนาดกว้างประมาณ ๑ เมตร ยาวประมาณ ๑๐ - ๑๕ เมตร เป็นทางตรงและรักษาไว้สะอาด มีหลักสำหรับแขวนหรือตั้งโคมในเวลากลางคืน เพื่อจะได้มองเห็นทางไม่ไปเหยียบสัตว์ให้ตายหรือถูกงูกัด ระหว่างเดินจงกรมอาจบริกรรมคาถา หรือพิจารณาเกี่ยวกับสังขารร่างกาย จุดประสงค์เพื่อให้เกิดความสงบเกิดสมาธิ และเกิดปัญญา ระยะเวลาในการเดินแล้วแต่บุคคล อาจจะเป็นหนึ่งชั่วโมงไปจนถึงสี่ชั่วโมง เมื่อหยุดเดินก็เข้าที่ภาวนา พอเมื่อยหรือง่วงก็ออกมาเดินอีกสลับกันไปจนถึงเวลาดื่มน้ำร่วมกันในตอนบ่าย

การดื่มน้ำตอนบ่ายอาจเป็นน้ำอัฐบาน กาแฟ น้ำหวาน อย่างใดอย่างหนึ่ง เสร็จแล้วกวาดวัด กวาดวัดเสร็จก็สรงน้ำ ซักสบง และอังสะ แล้วเอาไปตาก ต่อจากนั้นเป็นเวลาว่าง จะทำอะไรก็ได้ บางท่านอาจเข้าที่ภาวนาต่อ บางวัดท่านอาจารย์ขึ้นศาลาเทศน์สั่งสอนในตอนหัวค่ำทุกคืน เสร็จแล้วนั่งภาวนาพร้อมกันประมาณหนึ่งชั่วโมงแล้วจึงแยกย้ายกลับกุฏิ และปฏิบัติต่อไปตามลำพัง โดยมากจะเดินจงกรม สลับกับการนั่งสมาธิ เช่นเดียวกับตอนกลางวันจนถึงห้าทุ่ม หรือสองยามจึงนอน ประมาณตีสามตื่นขึ้นนั่งสมาธิจนสว่าง ภายหลังจากนั้นก็เตรียมออกบิณฑบาต เป็นการจบรอบกิจวัตรประจำวันโดยทั่วไป

สำหรับบางรูปที่กำลังเร่งความเพียรมาก อาจไม่นอนเลยจะนั่งกับเดินตลอดคืน ตอนกลางวันหลังจังหันแล้วจึงนอนสองสามชั่วโมงแล้วปฏิบัติต่อ บางรูปถือธุดงค์เนสัชชิกังคะไม่ลงนอนเลย กระทำแต่อิริยาบถสามคือ นั่ง ยืน เดิน ไม่นอน ถ้าง่วงก็นั่งหลับ เป็นวิธีหัดให้จิตมีกำลังเข้มแข็ง การฝึกอย่างอื่นก็มี เช่น อดอาหารซึ่งได้ผลสองต่อคือจิตเข้มแข็งและจิตเบา ภาวนาได้ผลดีกว่าธรรมดา บางรูปอดจนผ่ายผอม เพราะเห็นว่าอดแล้วไม่ง่วง จิตปลอดโปร่ง พิจารณาปัญหาต่าง ๆ ได้ดีกว่าธรรมดา

ในการภาวนา ส่วนมากใช้บริกรรมพุทโธ บางทีก็รวมกับอานาปานสติ เช่น หายใจ้เข้านึกพุท หายใจออกนึกโธ อาจารย์ทุกท่านคอยติดตามการดำเนินของการปฏิบัติอยู่เสมอ โดยการซักถามปรากฏการณ์ทางจิตของศิษย์ จึงสามารถดัดแปลงแก้ไขการปฏิบัติให้เหมาะกับภาวะของแต่ละคน ช่วยให้ได้ผลดีขึ้นไปตามลำดับ

หลักสำคัญประการหนึ่งที่เน้นอยู่เสมอคือ ธรรมะทั้งหลายอยู่ในกายของเราเอง ในการพิจารณาให้ส่งจิตเข้าไปในกาย ศึกษาภายในกายไม่ให้ส่งออกไปภายนอก เพราะนอกจากไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังจะเกิดการล่องลอยของจิตอีกด้วย

ระหว่างเข้าพรรษาเป็นโอกาสที่พระป่า จะได้ศึกษาเล่าเรียนกับอาจารย์ของตนอย่างใกล้ชิด และได้ผลเต็มที่เพราะได้อยู่ด้วยกันถึงสามเดือนเต็ม พอออกพรรษารับกฐินแล้วทั้งอาจารย์และศิษย์ต่างก็ออกธุดงค์ เพื่อเสาะแสวงหาที่สำหรับภาวนา

กฐินของวัดป่า จะทอดกันอย่างไม่มีพิธีรีตองอะไร มีแต่ผ้าขาวสำหรับเย็บจีวร และอัฐบริขาร บริวางกฐินจะมีอะไรบ้างก็แล้วแต่ศรัทธา การทอดก็มีแต่พระภิกษุสงฆ์ชุมนุมกันบนศาลา ทายก และทายิกาขนของไปกองไว้ข้างหน้าพระ ประธานยกผ้าขาวขึ้นกล่าวคำถวาย พระภิกษุสงฆ์รับผ้าไปทำพิธีกรานกฐิน เสร็จแล้วประเคนของที่เหลือเป็นเสร็จพิธี ต่อไปพระภิกษุจะจัดการตัดและย้อมจีวรตามแบบ ใช้เวลาไม่ช้าก็เสร็จ อนุโมทนาแล้วก็หมดธุระ ต่อจากนั้นต่างก็ออกเดินทางไปสู่จุดหมายในป่าเขา และถ้ำที่วิเวก เพื่อกระทำการชำระจิตให้บริสุทธิ์ ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าสอนไว้

การออกธุดงค์อาจต่างรูปต่างไป หรือไปเป็นหมู่ก็ได้ พระภิกษุที่พรรษายังอ่อนต้องไปกับ อาจารย์ท่านใดท่านหนึ่ง การท่องเที่ยวกัมมัฏฐาน นอกจากจะได้พบที่สัปปายะเหมาะแก่การปฏิบัติภาวนาแล้ว ยังได้ฝึกหัดจิตใจให้มีความอดทนเข้มแข็ง และไว้วางใจตนเองด้วย ยิ่งไปกว่านั้นการธุดงค์ยังเป็นการอบรมให้ยึดมั่นในไตรสรณาคม คือพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ และมีความเพียรมาก

อันตรายของพระป่า
พระพุทธเจ้าทรงเตือนสาวกของพระองค์ให้ระวังอันตรายสี่ประการ คือ ความเบื่อหน่ายต่อคำสอนของอาจารย์ประการหนึ่ง ความเห็นแก่ปากแก่ท้องประการหนึ่ง ความเพลิดเพลินในกามคุณประการหนึ่ง และความรักในสตรีประการหนึ่ง พระป่าต้องอาศัยอาจารย์ที่เข้มงวดกวดขัน คอยเตือนสติไม่ให้ปล่อยตนตกเป็นอันตรายทั้งสี่ดังกล่าว สมภารจะควบคุมทั้งเครื่องอุปโภคและบริโภคไม่ปล่อยให้ฟุ่มเฟือยฟุ้งเฟ้อ จำกัดการติดต่อกับคนภายนอกที่อาจจะชวนให้เขว บางวัดห้ามอ่านหนังสือพิมพ์ เพราะเกรงจะดึงความสนใจไปภายนอก ส่วนวิทยุและโทรทัศน์นั้นเป็นอันห้ามขาด

การเข้าเป็นพระป่า

การเริ่มต้นชีวิตแบบพระป่าอาจทำได้สองวิธีคือ วิธีที่หนึ่ง บวชเป็นพระภิกษุเสียก่อนในที่อื่นแล้วขอไปพำนักในวัดป่า วิธีนี้เป็นวิธีที่พระภิกษุส่วนมากผ่านเข้าสู่วัดป่า ทั้งนี้เพราะสมภารวัดป่าส่วนมาก ไม่ได้รับอนุญาตให้เป็นพระอุปัชฌาย์

วิธีที่สองคือ วิธีผ้าขาวคือ เป็นผู้ที่ปวารณาตัวเป็นอุบาสก ถือศีลแปด และอาศัยอยู่ในวัดทำหน้าที่เป็นลูกศิษย์พระ และฝึกปฏิบัติไปด้วย ต้องทำหน้าที่ให้เรียบร้อยเป็นที่พอใจของสมภารหรืออาจารย์ที่เป็นผู้ปกครอง จึงจะได้รับอนุญาตให้บวช บางคนเป็นผ้าขาวอยู่สองสามเดือนก็ได้บวช แต่บางคนก็อยู่เป็นปี บางคนเริ่มด้วยเป็นผ้าขาวน้อยตั้งแต่อายุยังน้อยสิบหรือสิบเอ็ดขวบ พอรู้เรื่องวัดดีก็บวชเป็นเณรเมื่ออายุครบก็บวชเป็นพระภิกษุ

เป็นที่น่าสังเกตว่าวัดป่ามักไม่ใคร่มีลูกศิษย์พระ ทั้งนี้เพราะลูกศิษย์ถือแค่ศีลห้า และบางทีก็ทำได้ไม่ครบถ้วน มักจะรบกวนการปฏิบัติของพระด้วยประการต่าง ๆ พระป่าจึงไม่ใคร่นิยม

การอยู่วัดป่า
วัดป่าไม่เหมือนวัดบ้าน ความรู้สึกที่ได้รับเมื่อเข้าสู่เขตวัดป่าคือ ความร่มรื่น ซึ่งเกิดจากต้นไม้น้อยใหญ่ที่เป็นสวนป่าในวัด ประการต่อมาคือความสะอาด และมีระเบียบ ถนนและทางเดินจะเตียนโล่งไม่มีเศษกิ่งไม้ใบไม้ร่วงหล่นเกลื่อนกลาด ทั้งที่มีต้นไม้ขึ้นอยู่หนาแน่นโดยรอบ ประการต่อมาคือความเงียบ บางเวลาเงียบมากจนได้ยินเสียงใบไม้ตกได้อย่างชัดเจน เสียงคนพูดคุยกันดัง ๆ แบบที่ได้ยินกันตามบ้านจะไม่มีเลย เวลาที่พระป่าจะคุยกันก็มีเฉพาะเวลาเตรียมฉันจังหัน เวลานัดดื่มน้ำเวลาบ่าย และเวลาพร้อมกันปัดกวาดถนนหนทางและลานวัด พระภิกษุทุกท่านจะพูดกันด้วยเสียงค่อยมาก จะไม่พบว่ามีการตะโกนคุยกันสนุกสนานเฮฮา เลย
กุฏิพระป่า
พระป่ามักไม่ค่อยเอาใจใส่กับที่อยู่อาศัยนอกเหนือไปจากขอให้บังแดดบังฝน และกันลมหนาวได้พอสมควรเท่านั้น กุฏิส่วนมากสร้างขึ้นชั่วคราวมีพื้นเป็นไม้ฟาก ซึ่งทำจากไม้ไผ่นำมาทุบแล้วแผ่ออกให้แบน หลังคามุงด้วยหญ้าหรือใบไม้ เวลาใช้ไม้กระบอกหรือไม้แบบที่ใช้ทำเสาเข็ม ฝาผนังเป็นกระดาษเหนียวกรุระหว่างตะแกรงที่สานด้วยไม้ไผ่ บานประตูหน้าต่างเป็นแบบเดียวกับฝาผนังเปิดโดยวิธีเลื่อนหรือใช้ไม้ค้ำ กุฏิแบบนี้หน้าร้อนจะเย็นสบายเพราะลมเข้าได้ทุกทาง แต่หน้าฝนมักเปียกเพราะหลังคาหรือฝาผนังรั่ว ในหน้าหนาวลมเย็นจะเข้าได้ทุกทาง ทำให้เย็นจัด

เมื่อมีผู้มีจิตศรัทธามากขึ้น กุฏิของพระป่าก็ค่อย ๆ เปลี่ยนจากกุฏิชั่วคราวเป็นกึ่งถาวร และถาวร อย่างไรก็ตามกุฏิของพระป่ามักจะมีลักษณะคล้าย ๆ กัน ต่างกันแต่ขนาดและวัสดุก่อสร้าง กุฏิชั่วคราวมักจะเตี้ยยกพื้นสูงประมาณ ๕๐ เซนติเมตร เพียงให้พ้นจากการรบกวนของสัตว์ เช่น งู หรือหนู ถ้าเป็นกุฏิถาวรมักทำใต้ถุนสูงพอเข้าไปอาศัยหรือยืนได้ ตามธรรมดาจะมีอยู่ห้องหนึ่งเป็นที่จำวัด หรือนั่งสมาธิภาวนา และเก็บสิ่งของเป็นรูปสี่เหลี่ยมจตุรัส ขนาดเฉลี่ยกว้างด้านละประมาณสองเมตรครึ่ง มีเฉลียงสำหรับนั่งพักหรือรับแขก ขนาดพอสมควรแก่การใช้งาน ถ้าสร้างกว้างใหญ่มากก็จะผิดพระวินัย

โดยทั่วไปภายในกุฏิมักจะมีแต่กลดพร้อมมุ้งกลด เสื่อปูนอน เครื่องอัฐบริขาร ผ้าห่มนอน จีวร ตะเกียง หรือเทียนไขและหนังสือ ที่หัวนอน อาจมีหิ้งพระตั้งรูปพระอาจารย์ต่าง ๆ อย่างอื่น ๆ ก็มีขวดน้ำ และแก้วน้ำ

กุฏิแต่ละหลังผู้อยู่อาศัยต้องระวังรักษาเองให้อยู่ในสภาพที่สะอาดเรียบร้อยทั้งตัวกุฏิ และบริเวณกุฏิ บนกุฏิสิ่งของต่าง ๆ ต้องวางเป็นที่ และมีระเบียบ พระป่าปฏิบัติตามพระวินัยอย่างเคร่งครัด ต้องรักษาเสนาสนะคือ ที่อยู่อาศัย และบริเวณให้สะอาด ทุกเช้าตั้งแต่ยังไม่สว่าง พระป่าทุกท่านจะหยุดนั่งสมาธิในตอนเช้า จัดการปัดกวาดกุฏิ พอรุ่งสางก็ช่วยกันกวาดถูศาลาการเปรียญ การถูพื้นจะใช้เปลือกมะพร้าวห้าวมาทุบตัดครึ่งแล้วนำไปถูพื้น เมื่อทำนาน ๆ ไปจะให้พื้นกระดานเป็นมันจนลื่น

ทุกวันเวลาบ่ายประมาณ สามโมง ถึงสี่โมงเย็น จะเป็นเวลากวาดวัดของวัดป่าส่วนมากการกวาดจะใช้ไม้กวาดด้ามไม้ไผ่ยาว ต้องใช้แรงในการกวาดมาก เป็นการออกกำลังที่ดียิ่งในแต่ละวัด นอกเหนือจากการเดินจงกรม และเดินบิณฑบาต การถูศาลาและการกวาดลานวัดทุกวันทำให้พระป่าแข็งแรง และมีสุขภาพดีเป็นประโยชน์ในทุกด้าน


ความหวังของพระป่า

พระป่าเพียรบำเพ็ญสมณธรรม ด้วยอิทธิบาทสี่ และสัมมัปปธานสี่ จะต้องอดทนต่อความเป็นอยู่ซึ่งล้วนแล้วแต่ตรงกันข้ามกับความสุขสบาย ต้องระมัดระวังทุกฝีก้าว ไม่ทำผิดพระวินัย และผิดระเบียบของวัด สำหรับระเบียบของวัดพอจะยกตัวอย่างได้ดังนี้

๑.เวลาออกบิณฑบาตห้ามคุยกัน ให้ภาวนากำหนดจิตของตน ตั้งอยู่ในความไม่ประมาททุกเมื่อ
๒.กลับจากบิณฑบาตถึงวัดแล้ว ขณะนั่งจัดบาตรอยู่ห้ามคุยกัน
๓.เมื่อได้ยินระฆังสัญญาณ ให้พร้อมกันออกมาทำกิจวัตรปัดกวาดสถานที่
๔.ถ้าหมู่เดียวกันทำผิดศีลธรรม ให้ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ ถ้าว่าไม่ฟังให้ร้องเรียนครูอาจารย์ให้ทราบโดยด่วน อย่าถือว่าเป็นการฟ้องร้อยกัน
๕.เมื่อผู้อื่นนั่งภาวนากำหนดจิตของท่านอยู่ อย่าไปเพ่งโทษท่านว่าหมู่รังเกียจตน
๖.เมื่อทำกิจวัตรสรงน้ำเสร็จแล้ว ห้ามคุยกันบนกุฏิ เว้นไว้แต่ไปศึกษาธรรม และไปดูแลความเจ็บป่วยของกันและกัน
๗.เมื่อมีกิจของสงฆ์เกิดขึ้นอย่าเมินเฉย ต้องเอาธุระช่วยดูแล ถ้าใครไม่เอาใจใส่ท่านปรับอาบัติทุกกฏ
๘.ห้ามเก็บอาหารไว้ฉันตอนเพล เพราะจะทำให้เสียระเบียบพระธุดงค์กัมมัฏฐาน
๙.เวลาไปต้อนรับแขกที่มาสู่วัด ต้องห่มจีวรให้เรียบร้อย
๑๐.เมื่อได้ยินสัญญาณที่ศาลาการเปรียญ ต้องรีบไปให้ถึงภายใน ๑๐ นาที เมื่อถึงแล้วห้ามคุยกันในกิจที่ไม่จำเป็น ให้นั่งภาวนากำหนดจิตของตน เมื่อเห็นผู้อื่นไม่พูดด้วยอย่าหาว่าท่านรังเกียจ ให้เข้าใจว่าท่านกำลังกำหนดจิตของท่านอยู่
๑๑.ช่วยกันรักษาของสงฆ์ที่มีอยู่ตามศาลาและกุฏิ ใครไม่เอื้อเฟื้อในของสงฆ์ท่านปรับอาบัติเท่ากับละเมิดของสงฆ์
๑๒.ของสิ่งใดที่มีผู้เอามาถวาย มีเจ้าหน้าที่เก็บไว้ ถ้าจะใช้ต้องได้รับอนุญาตจากผู้เก็บเสียก่อน

นอกจากต้องระวังตัวไม่ให้ทำผิดพระวินัย และไม่ผิดระเบียบของวัดแล้ว พระป่ายังต้องพากเพียรฝึกอบรมจิตของตน เพื่อยังกิเลสให้เบาบางไปตามลำดับ จุดหมายปลายทางที่สุดยอดคือความหลุดพ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด ถ้าพลาดจากนั้นก็ขอให้ได้อริยธรรมชั้นใดชั้นหนึ่ง ตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป ซึ่งจะประกันว่าจะไม่ต้องไปเกิดในทุคติภพ ความมุ่งมาดดังกล่าวเป็นความจริงจังของพระป่า

ข้อควรทราบบางประการเกี่ยวกับพระป่า
การทำบุญบริจาคทานกับพระป่านั้น ควรทราบว่าอะไรทำและอะไรไม่ควรทำ อะไรไม่ควรบริจาคทานทำบุญกับพระป่า อะไรสมควรที่ท่านจะบริโภคได้ อาหารอะไรควรฉันเวลาไหน

เวลาและประเภทของโภชนาหารที่พระภิกษุรับประเคนได้

๑. ของที่ควรถวายแก่พระป่าตอนเช้า ได้แก่ โภชนาหารห้าอย่างคือ ข้าวสุก ขนมสด ขนมแห้ง ปลาและเนื้อ
๒. ของที่พระป่ารับประเคนได้ ฉันได้ทั้งในตอนเช้า ตอนเย็น ตอนกลางคืน และท่านเก็บไว้ฉันได้เจ็ดวัน ได้แก่ น้ำผึ้ง น้ำอ้อย น้ำตาล น้ำหวาน เนยใส เนยข้น
๓. ของที่พระป่ารับประเคนได้ ทั้งตอนเช้า ตอนเย็น ตอนกลางคืน และฉันได้ทุกเวลา ถ้ามีเหตุจำเป็นได้แก่ยารักษาโรค
๔. ของที่พระป่ารับประเคนได้ และฉันได้ในตอนบ่าย ตอนเย็น และตอนกลางคืน ได้แก่น้ำปานะ ซึ่งทำจากผลไม้ที่ไม่ใช่เป็นมหาผล ผลไม้ที่ควรใช้ทำน้ำปานะถวายพระป่า ได้แก่ มะนาว พุทรา ลูกหว้า ส้มเขียวหวาน ส้มเช้ง มะขาม มะปรางดิบ กล้วยดิบมีเมล็ด ฯลฯ น้ำที่ใช้ทำน้ำปานะควรต้มให้สุกเสียก่อน แล้วตั้งทิ้งไว้ให้เย็น วิธีทำน้ำปานะโดยสังเขปคือ นำผลไม้มาแกะเอาเมล็ดออก แล้วคั้นเอาแต่น้ำผลไม้ จากนั้นนำมากรองด้วยผ้าขาวเจ็ดครั้ง แล้วจึงนำมาผสมด้วยพริกหรือเกลือ หรือน้ำตาล หรือยาสมุนไพรต่าง ๆ ตามต้องการ น้ำปานะที่ผสมเสร็จแล้วนี้ห้ามนำไปต้มให้สุกอีก น้ำปานะจะประเคนพระได้ตั้งแต่เที่ยงวัน ถึงเที่ยงคืนก็หมดอายุกาล เพราะน้ำปานะนั้นจะกลายเป็นเมรัยไป จึงห้ามภิกษุสามเณรฉันเป็นอันขาด

เนื้อสัตว์ที่พระพุทธเจ้าทรงห้ามภิกษุสามเณรฉัน
มีอยู่สิบอย่างด้วยกันคือ เนื้อมนุษย์ เนื้อช้าง เนื้อเสือเหลือง เนื้อเสือโคร่ง เนื้อเสือดาว เนื้อหมี เนื้อราชสีห์ เนื้องู เนื้อสุนัข เนื้อม้า

พระพุทธศาสนากับป่าไม้

จากพุทธประวัติเราจะพบว่ามีความเกี่ยวเนื่องกับป่าไม้หลายประการด้วยกันคือ
ศากยวงศ์ของพระพุทธเจ้าจัดตั้งขึ้นโดยพระราชโอรส และพระราชธิดาของพระเจ้าโอกากราช ณ ป่าไม้สัก ใกล้ภูเขาหิมาลัย อันเป็นที่อยู่ของกบิลดาบสมาก่อน ได้สร้างเมืองขึ้นในป่าไม้สักให้ชื่อว่ากบิลพัสดุ์
โกลิยวงศ์ อันเป็นราชวงศ์ของพระนางสิริมหามายา พระพุทธมารดา ก็มีความเป็นมาเนื่องด้วยป่าไม้กระเบา มีราชธานีชื่อ กรุงเทวทหะ
เมื่อพระนางสิริมหามายาทรงพระครรภ์จวนประสูติพระโอรส พระนางได้เดินทางเพื่อไปประสูติพระโอรส ณ กรุงเทวทหะ แต่เมื่อไปถึง ลุมพินีวัน ซึ่งเป็นป่าที่ตั้งอยู่ระหว่างกรุงกบิลพัสดุ์ และกรุงเทวทหะ พระนางก็ประสูติพระโพธิสัตว์ ณ ที่นั้น
ในสมัยที่ทรงพระเยาว์ พระโพธิสัตว์มักใช้เวลาส่วนหนึ่งเที่ยวจาริกไปตามป่าเชิงภูเขาหิมาลัย จนสัตว์ป่ามีความคุ้นเคยเดินตามพระองค์ไปเป็นฝูง ด้วยความสนิทสนมคุ้นเคยเป็นที่อัศจรรย์
ตลอดระยะเวลาหกปี ที่พระโพธิสัตว์ได้เที่ยวศึกษาแสวงหาทางเพื่อความตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า ได้ประทับศึกษาอยู่ในป่าต่าง ๆ แม้ในเวลาตรัสรู้ก็ทรงเลือกเอาป่าในตำบล อุรุเวลาเสนานิคมเป็นที่บำเพ็ญเพียรจนตรัสรู้ภายใต้ต้น อัสสัตถพฤกษ์ แล้วประทับเสวยวิมุติสุข ณ ต้นไทร ต้นเกด ตามลำดับ

เมื่อพระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ พระธัมมจักกัปวัตตนสูตร แก่ ปัญจวัคคีย์ ก็ทรงแสดงที่ ป่าอิสิปนมฤคทายวัน อันเป็นสวนป่า และทรงแสดงพระธรรมเทศนาอีกเป็นอันมาก ณ ป่าอิสิปนมฤคทายวันแห่งนั้น จนเกิดพระอรหันต์ขึ้นในโลกคราวแรกติดต่อกันถึงหกสิบรูป
ทรงแสดงพระธรรมเทศนา อนุบุพพิกถา และอริยสัจสี่ โปรดพระเจ้าพิมพิสาร และบริวาร จำนวนรวมกัน ๑๒๐,๐๐๐ ท่าน ณ ลัฏฐิวัน อันเป็นป่าเช่นเดียวกัน
พระอารามแห่งแรกในพระพุทธศาสนาคือ เวฬุวัน คือป่าไผ่ที่พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายให้เป็นที่ประทับของพระพุทธเจ้า และพระสงฆ์ หลังจากที่พระองค์ได้ฟังธรรมเทศนาจนบรรลุมรรคผลเป็นพระอริยบุคคลแล้ว พระอารามอีกแห่งหนึ่งในกรุงราชคฤห์คือ ชีวกัมพวัน เป็นป่าไม้มะม่วงที่หมอชีวกโกมารภัจถวายเป็นพระอาราม สำหรับพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์ และที่ในกรุงราชคฤห์นั้น ยังมีป่าที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าอีกเป็นอันมาก เช่น มัททกุจฉิมฤคทายวัน

ในแคว้นกาสี แคว้นโกศล อันเป็นที่ตั้งของพระอารามคือพระเชตวัน บุพพาราม มีป่าเป็นอันมาก นอกจากเชตวัน คือ ป่าของเจ้าเชต ที่ท่านอนาถบิณทิกเศรษฐีซื้อเพื่อสร้างเป็นพระอารามถวายพระพุทธเจ้าแล้วยังมีอันธวัน และนันทวัน ที่พระพุทธเจ้า และพระภิกษุสงฆ์ ได้ไปพักอาศัยในป่าเหล่านั้น
ในแคว้นวัชชี และแคว้นสักกะ มีชื่อป่ามหาวันอยู่ทั้งสองแห่ง ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงพระสูตรเป็นอันมากแก่พระภิกษุบ้าง เทวดาบ้าง พระราชา พราหมณ์ คฤหบดีบ้างในโอกาสที่พระพุทธเจ้าเสด็จไปประทับในป่านั้น
ตามปกติพระพุทธเจ้าจะเสด็จหลีกออกจากหมู่คณะ ไปประทับสงบอยู่ในป่าระยะสั้น ๆ เจ็ดหรือสิบห้าวันทุกครั้งจะเสด็จเข้าไปประทับในป่า เช่นคราวที่พระภิกษุทะเลาะกันที่เมืองโกสัมพี พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปประทับอยู่ที่ป่า รักขิตวัน อยู่กับช้างและลิงที่เราเรียกพระพุทธรูปปางนี้ว่าปางป่าลิเลยกะ

การอยู่ป่าเป็นวัตรจัดเป็นนิสัย คือปัจจัยเครื่องอาศัยชีวิตของนักบวชในพระพุทธศาสนา และแม้นักบวชในลัทธิอื่นก็ถือแนวเดียวกัน พระพุทธเจ้ากับพระภิกษุสงฆ์ในสมัยพุทธกาลล้วนแล้วแต่อาศัยอยู่ในป่าเป็นส่วนมาก ยิ่งท่านที่ต้องการ เจริญกรรมฐาน หรือที่ใช้คำว่าเจริญสมณธรรมด้วยแล้ว เสนาสนะป่าเขา เงื้อมเขา ถ้ำ เป็นสถานที่ที่เกื้อกูลต่อการปฏิบัติเจริญสมณธรรม พระพุทธเจ้าทรงยกย่องสรรเสริญป่าไว้โดยนัยต่าง ๆ เป็นอันมาก
เมื่อพระพุทธเจ้าทรงเสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็ทรงปรินิพพาน ณ สาลวโนทยาน คือ สวนป่าสาละของกษัตริย์มัลละ แห่งเมืองกุสินารา

ป่าไม้ในฐานะเป็นที่ตั้งแห่งบุญ
ในสคาถวรรค สังยุตตนิกาย พระพุทธเจ้ารับสั่งตอบเทวดาที่มากราบทูลถามว่า
"ชนเหล่าใด สร้างสวนดอกไม้ ผลไม้ ปลูกหมู่ไม้ สร้างสะพาน และให้โรงเป็นทาน บ่อน้ำทั้งบ้านที่พักอาศัย ชนเหล่านั้นย่อมมีบุญ เจริญในกาลทุกเมื่อ ทั้งกลางวันและกลางคืน ชนเหล่านั้นตั้งอยู่ในธรรม สมบูรณ์ด้วยศีล เป็นผู้ไปสวรรค์"

ป่าไม้ในฐานะที่เป็นสิ่งที่ควรอนุรักษ์ ในพระพุทธศาสนา
มีบทบัญญัติทางพระวินัยที่ห้ามมิให้พระภิกษุกระทำการอะไรเป็นการทำลายสภาพของป่า และต้นไม้ เช่น

พระภิกษุรูปใดตัดทำลายต้นไม้ ถ้าเป็นต้นไม้มีเจ้าของหวงแหน ท่านปรับอาบัติในฐานอทินนาทานคือ การถือเอาสิ่งของที่เจ้าของมิได้ให้ ถ้าเป็นการตัดกิ่งต้นไม้ของตนหรือของวัด ท่านปรับอาบัติในข้อที่เป็นการพรากภูติคามคือ หักรานกิ่ง ใบ ดอกของต้นไม้ แม้แต่การทำลายต้นไม้ที่เป็นเมล็ดที่ปลูกได้ แง่ง กิ่งของต้นไม้ ล้วนปรับเป็นอาบัติทั้งสิ้น

และเพื่อเป็นการอนุรักษ์สภาพของป่า และต้นไม้ ได้มีบทบัญญัติทางพระวินัย ห้ามพระภิกษุถ่ายปัสสาวะอุจจาระ บ้วนน้ำลายลงน้ำ ในของสดเขียวทั้งเล็กและใหญ่ รวมถึงการทิ้งสิ่งสกปรกลงในน้ำ ในของสดของเขียวทั้งหลายอันเป็นหลักปฏิบัติที่ช่วยในการอนุรักษ์ธรรมชาติ และสภาพแวดล้อมได้เป็นอย่างดี

ความเชื่อในเรื่องที่มีเทพารักษ์ สิงสถิตอยู่ในป่า ต้นไม้ ที่ปรากฏอยู่ในคัมภีร์พระพุทธศาสนา จึงเป็นประโยชน์และเอื้ออำนวยที่สำคัญในการอนุรักษ์ป่า ต้นไม้

ยิ่งไปกว่านั้น พระวินัยยังกำหนดให้พระภิกษุที่สร้างกุฏิอยู่ตามป่า ไม่ให้ทำลายต้นไม้โดยไม่ได้รับอนุญาต และแม้แต่ได้รับอนุญาตก็ตัดทำลายเองไม่ได้ และยังต้องระมัดระวังไม่ให้กุฏิพังลงมาทับต้นไม้ในป่า ดังนั้นวันในพระพุทธศาสนา จึงเรียกว่า อาราม แปลว่าสถานที่ทำใจให้รื่นรมย์ โดยเน้นไปที่สวนไม้ดอกไม้ผล ไม้ที่ให้ร่มเงา วัดหลักในพระพุทธศาสนาจึงมีคำลงท้ายว่า วัน ที่แปลว่าป่า เช่น เวฬุวัน เชตวัน ชีวกัมพวัน และแม้แต่นิโครธาราม ก็เป็นป่าที่มีต้นไทรขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก

ปฏิปทาพระธุดงคกรรมฐาน

พระภิกษุ ฝ่ายที่มุ่งศึกษาธรรม โดยการกระทำ หรือลงมือปฏิบัติ และพำนักอยู่ ตามป่าเขาที่สงบ สงัด สะดวกต่อการปฏิบัติจึงเรียกว่า พระฝ่ายอรัญวาสี พระธุดงคกรรมฐาน หรือ พระป่า
พระภิกษุ ที่ได้รับการยกย่องนับถือว่า เป็นพระบุพพาจารย์ใหญ่แห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐานในประเทศไทย ได้แก่ ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตผู้ได้บำเพ็ญความเพียร ในขั้นเอกอุ จนบรรลุถึงธรรมชั้นสูงสุด

พระป่า หรือพระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต มีต้นเค้าดั้งเดิม ประมาณว่า เริ่มแต่ พระอาจารย์สีทา ชัยเสโน อดีตเจ้าอาวาสวัดบูรพา อำเภอเมือง จังหวัดอุบลราชธานี 

สำหรับพระเถระผู้มีบทบาท ในการสร้างหลักปักธงชัย พระกรรมฐาน ในแผ่นดินที่ราบสูง แดนอีสานได้แก่ ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ (จันทร์ สิริจันโท) วัดบรมนิวาส กรุงเทพฯ หลวงปู่เสาร์ กันตสีโล วัดเลียบ อุบลราชธานี และ หลวงปู่มั่น ภูริทัตตมหาเถร ซึ่งกาลต่อมา ได้ให้การอบรม สั่งสมบารมีธรรม แก่พระภิกษุสามเณร จนมีศิษย์ เป็นพระธุดงคกรรมฐาน ผู้ทรงคุณธรรม สัมมาปฏิบัติ ออกจาริกธุดงค เผยแผ่ธรรมนำศรัทธาสาธุชน ได้ผลดี เป็นอันมาก ต่อกิจการงานพระศาสนาสร้างสำนักป่า วัดวา ศาสนสถานในพระพุทธศาสนา ตามแบบที่เรียกว่า "วัดป่า" ที่เน้นธรรมชาติ ความเรียบง่าย สะอาด สงบ สว่างด้วยแสงธรรม 

พระสายนี้ ชาวบ้านศรัทธาเรียกว่า พระธุดงคกรรมฐานหรือพระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ซึ่งดำเนินปฏิปทา ตามแนวพ่อแม่ครูอาจารย์
 
พระป่าพระธุดงคกรรมฐาน จะปฏิบัติต่อครูอาจารย์ ที่เรียกท่าน ด้วยความเคารพอย่างสูงว่า "พ่อแม่ครูอาจารย์" ด้วยความเคารพนับถือ ดุจบิดรมารดาแลครูอาจารย์ ผู้เป็นพ่อแม่ ครูอาจารย์ ก็จะปกครอง อบรมดูแล ลูกศิษย์ ด้วยความเมตตาดุจพ่อแม่ แลครูอาจารย์ เช่นกัน


ประมาณปี พ.ศ.2459 เป็นต้นมา พระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เริ่มทยอย เพิ่มจำนวนมากขึ้น ขยายงานการเผยแผ่ ในภาคอีสาน โดยเฉพาะ ทางจังหวัดอุดรธานี หนองคาย นครพนม สกลนคร อุบลราชธานี นครราชสีมา ขอนแก่น และตามภูมิภาคต่าง ๆ ที่รังสีธรรม แห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ได้แผ่ไปถึง
พระป่าทุกองค์ จะต้องรักษาศีล อย่างบริสุทธิ์ ในกระบวนไตรสิกขา ศีลสมาธิปัญญานั้น ศีล เป็นข้อที่ง่ายที่สุดและเท่ากับ เป็นเครื่องทดสอบ สมณะเพศ เพราะการรักษาศีล ต้องการศรัทธา ความตั้งใจ ถ้าผู้ใดรักษาศีล ให้บริสุทธิ์ไม่ได้ ก็อย่าหวังเลย ที่จะก้าวหน้า ในทางธรรมชั้นสูง
ศีล เป็นฐานที่ตั้งแห่งสมาธิ ทำให้บังเกิดสมาธิ และตั้งมั่น ศีลจะต้องดีก่อน สมาธิจึงจะดีได้ นอกจากนั้น ในการจาริกธุดงค แสวงหา ที่สัปปายะ สำหรับอบรมจิต ต้องฟันฝ่าอุปสรรค นานาประการ พระป่าจึงเชื่อว่าศีลที่บริสุทธิ์ จะเป็นเกราะป้องกัน ที่ดีที่สุด 

พระธุดงคกรรมฐาน หรือพระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต แต่ละรูป ตามประวัติได้ เคยบุกป่าฝ่าดงไปตามป่าเขา เผชิญกับสิงสาราสัตว์ ที่ดุร้าย ผจญกับภัยธรรมชาติ และมนุษย์ที่ตั้งตนเป็นศัตรู แต่ด้วยศีลที่บริสุทธิ์ของท่าน ได้เป็นเกราะแก้ว คุ้มกันพิทักษ์ รักษาพระคุณเจ้า ประสพสวัสดิภาพ ด้วยดีด้วยศีล ด้วยบุญกุศล


พระป่าสายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต เป็นสุปฏิปันโน ที่มีปฏิปทา คือข้อวัตรข้อปฏิบัติต่างๆ ที่น่าเลื่อมใสศรัทธา เป็นปฏิปทา ที่ทำได้ไม่ง่าย เพราะเป็นปฏิปทา ที่ทวนกระแสโลก ทั้งทางกาย วาจา และใจ ซึ่งหลักปฏิปทานี้ คือ ธุดงควัตร 13 ขันธวัตร 14 เป็นเครื่องบำเพ็ญทางกาย และมี กรรมฐาน 40 เป็นเครื่องบำเพ็ญทางใจ สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันไป ในอริยาบทต่าง ๆ ของความเพียร ทั้งนี้เพราะธุดงควัตร 13 และวัตรต่าง ๆ ตลอดจนกรรมฐานทั้งมวล ล้วนเป็นธรรม เครื่องอบรมบ่มนิสัย ที่ติดกายมา ตั้งแต่ครั้งเป็นฆราวาส และเป็นธรรม ที่จะทำลายล้างข้าศึกภายในใจ คือกิเลสตัณหา ให้หมดสิ้นไป

การถือธุดงค์ ของพระป่า พระธุดงคกรรมฐาน เป็นเจตนา ที่แสดงออก เพื่อประหารกิเลส ของตน เกี่ยวเรื่อง เครื่องนุ่งห่ม อาหารการขบฉัน ที่อยู่อาศัย และความเพียร ด้วยข้อปฏิบัติ
"ธุดงควัตร" 


สรุปพระภิกษุฝ่ายอรัญวาส ในพระพุทธศาสนา พระภิกษุ แบ่งออกได้เป็นสองฝ่าย
คือ

o ฝ่ายปริยัติ ได้แก่ พระภิกษุ ที่มุ่งศึกษาศาสนธรรม จากตำราจากคัมภีร์ ส่วนมาก พำนักอยู่ที่วัด ในเมือง หรือชุมชน จึงเรียกว่า พระฝ่ายคามวาสี หรือพระบ้าน

o พระภิกษุอีกฝ่ายหนึ่ง มุ่งศึกษาโดยการกระทำ หรือลงมือปฏิบัติ และพำนักอยู่ ตามป่าตามเขา ที่สงบ สงัด สะดวกต่อการปฏิบัติ จึงเรียกว่า พระฝ่ายอรัญวาสี หรือ พระป่า หรือ พระธุดงคกรรมฐาน
พระภิกษุ ได้รับการยกย่อง นับถือว่า เป็นพระบุพพาจารย์ใหญ่ แห่ง กองทัพธรรมพระธุดงคกรรมฐาน ในประเทศไทย ได้แก่ท่านหลวงปู่มั่น ภูริทัตตตมหาเถร ผู้ได้บำเพ็ญความเพียรในขั้นเอกอุจนบรรลุ ถึงธรรมชั้นสูงสุด ดังมีหลักฐานปรากฎ คืออัฐิของท่านกลายเป็น พระธาตุดังที่มีบรรยาไว้ว่าเป็นลักษณะของพระอรหันตสาวก ซึ่ง ปัจจุบันได้นำมาประดิษฐาน ณ วัดป่าสุทธาวาส จังหวัดสกลนคร พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ท่านเป็นพระอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากรรมฐานที่มีลูกศิษย์จำนวนมาก อาทิ

หลวงปู่ขาว อนาลโย วัดถ้ำกลองเพล จ.อุดรธานี
หลวงปู่ดุลย์ อตุโล วัดบูรพาราม จ.สุรินทร์
หลวงปู่ฝั้น อาจาโร วัดป่าอุดมสมพร จ.สกลนคร
หลวงปู่แหวน สุจิณโณ วัดดอยแม่ปั๋ง จ.เชียงใหม่
หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี วัดหินหมากเป้ง จ.หนองคาย
หลวงปู่สิม พุทธาจาโร วัดถ้ำผาปล่อง จ.เชียงใหม่
หลวงตามหาบัว ญาณสัมปันโน วัดป่าบ้านตาด จ.อุดรธานี
หลวงปู่สมชาย ฐิตวิริโย วัดเขาสุกิม จ. จันทบุรี
หลวงปู่วิริยังค์ สิรินธโร วัดธรรมมงคล กรุงเทพฯ เป็นต้น


พระคุณเจ้าทั้งหลายนี้ได้สืบต่อการปฏิบัติข้อวัตรตามแนวทางของท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ในกาลต่อมาเมื่อศิษย์ในสายพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตหลายองค์ถึงแก่มรณภาพอัฐิของท่าน ก็ได้ แปรสภาพ ไปในทำนองเดียวกับ ของพระอาจารย์มั่น อาทิ อัฐิธาตุ ของหลวงปู่ขาว อนาลโย ของท่าน พระอาจารย์จวน กุลเชฏโฐ ประกอบกับ ความเค่งครัด ในวินัย และศีลาจารวัติ ได้เสริมสร้าง ศรัทธา ของ ประชาชน ในการปฏิบัติกรรมฐาน เพิ่มมากขึ้น และเป็นเหตุแห่ง การฟื้นฟู วัดป่า และชักจูงให้ มีผู้บวช เป็นพระป่า พระสายปฏิบัติกรรมฐาน เพิ่มมากขึ้น เช่นกัน

สำหรับ ผู้ที่เคยเข้าไป สัมผัสวัดป่า เป็นครั้งแรก ความรู้สึก ที่กระทบจิตใจ เมื่อย่างเข้า ถึงเขต วัดป่าคือ "ความร่มรื่น" ซึ่งเกิดจากต้นไม้น้อยใหญ่ภายในวัด สิ่งกระทบใจประการที่สอง คือ ความสะอาด และมีระเบียบ "ความสงบเงียบ" ไม่อึกทึกพลุกพล่าน ต้นไม้ ธรรมชาติ จะได้รับการรักษา ให้ยืนย คงอยู่

กุฏิเสนาสนะ ที่พำนักของพระป่า จะปลูกสร้าง อย่างเรียบง่าย สมถะ ด้วยวัสดุพื้น ๆ เว้นแต่ บางแห่ง ที่มีคณะศรัทธา ญาติโยม สร้างถวาย ก็อาจใช้วัสดุ หรือการก่อสร้าง ที่พิถีพิถัน แต่บางแห่ง ท่านก็ไม่ยอมให้สร้างใหญ่โต หรือพิถีพิถัน เกินไป เพราะแกรงว่า จะทำให้ พระ คุ้นกับความสบาย จน "ติดสุข" ไม่อยากออกไป เผชิญความลำบาก ในการออกเดินธุดงค์ ซึ่งเป็นภารกิจ ที่สำคัญ ของพระป่า

โดยทั่วไป ภายในกุฏิ ของพระป่า จะมีเพียงกลด พร้อมด้วยมุ้งกลด เสื่อ ปูนอน เครื่องอัฐบริขาร ผ้าห่มนอน จีวร ตะเกียง หรือเทียนไข และหนังสือ ที่หัวนอน อาจมีหิ้งพระ รูปพระอาจารย์ต่างๆ ส่วนของมีค่า อุปกรณ์ อำนวยความสะดวกสบายนั้น ท่านไม่สะสม กุฏิแต่ละหลัง ผู้พำนักอาศัย ต้องรักษา ให้สะอาด ทั้งในกุฏิ และบริเวณ

พวกชาวเมือง ที่ได้ไปเยือนวัดป่าครั้งแรก มักจะแปลกใจว่า นี่ท่านทำอย่างไร วัดจึงสะอาดฉะนี้ ทั้งๆ ที่ มีต้นไม้ เต็มไปหมด ทุกแห่ง ทางเดินของท่าน ก็โล่งเตียน ห้องน้ำ ก็สะอาด ศาลา ก็สะอาด คำตอบคือ พระป่า ท่านปฏิบัติ ตามพระวินัย ท่านต้องรักษา เสนาสนะ ที่อยู่อาศัย และบริเวณ ให้สะอาด ทุก ๆ วัน เวลาประมาณ บ่ายสามโมง เป็นเวลา ปัดกวาดลานวัด ซึ่งปกติท่าน สมภาร หรือ ประธานสงฆ์ ก็จะลงมือกวาด ด้วย ยกเว้น ก็แต่ ผู้อาพาธ เท่านั้น งานปัดกวาดนี้ ใช้แรงมาก เพราะ ไม้กวาดหนัก และด้ามยาวกว่า จะแล้วเสร็จ ก็เหงื่อท่วมตัว ซึ่งเท่ากับ เป็นการออกกำลังกาย ไปในตัว พระป่าท่าน เดินจงกรม เดินบิณฑบาต ทุกวัน ถูศาลา ทุกวัน และกวาดวัด ทุกวัน ท่านจึงแข็งแรง และสุขภาพดี

พระพุทธศาสนา เป็นตัวอย่าง ของประชาธิปไตย ตั้งแต่เริ่มเข้ามาบวช เป็นสมาชิกของวัด ก็ต้อง ผ่านการลงมติ ของคณะสงฆ์ เสียก่อน ข้าวของต่างๆ ที่มีผู้ถวายแก่วัด ย่อมเป็นของกลาง ใครจะ นำไป เป็นประโยชน์ ส่วนตัว ไม่ได้ ทุกคน มีส่วนที่จะ ได้รับประโยชน์ จากของสงฆ์ ถ้ามีการพิพาทกัน ก็ต้อง ตั้งกรรมการ พิจารณา เหล่านี้ เป็นตัวอย่าง ของประชาธิปไตย แต่เป็นแบบพุทธ คือ เป็นการสมัครใจ ไม่บังคับ ถ้าไม่พอใจ ก็ไปที่อื่นเสีย แล้วก็ยังมีคาราวะ มีอาวุโส มีบารมี มีกรรม มีวิบาก ไม่ใช่ทุกคน เท่ากันหมด อาหารที่บิณฑบาต มาได้ จะนำมารวมกันก่อน แล้วจึงแจกไป ให้ทั่วถึง

พระป่า ท่านมีคติ อีกอย่างหนึ่ง คือ ไม่ว่าวันไหน จะบิณฑบาต ได้ภัตตาหาร มากน้อย เท่าใด ต้อง ฉันแต่น้อย แต่พอดี แม้จะมีอาหาร ล้นเหลือ ก็จะไม่ฉัน จนอิ่มตื้อ เพราะ ถ้าทำเช่นนั้น จะง่วง ภาวนา ไม่ได้ นอกจาก ระวังไม่ฉันมากแล้ว พระป่า ท่านยังระวัง ไม่ให้ติด รสอาหาร ด้วย โดยการหลีกเลี่ยง อาหารที่อร่อย ทั้งนี้ เพราะเกรงว่าจะ "ติดสุข" นั่นเอง ในเวลาฉัน ต้องพิจารณา ตามแบบ ที่พระพุทธเจ้า ทรงสอน พูดง่าย ๆ คือว่า กินเพื่ออยู่ เพื่อประทังชีวิต ประทังความหิว ท่านจึงเงียบสงบ ระหว่างฉัน ไม่สนทนาพาที อะไรกัน เพราะท่านต้อง พิจารณาอาหาร ไปด้วย

กิจวัตร ของพระป่า คือ ตื่นนอน ตั้งแต่ตีสาม หรือตีสี่ เพื่อปฏิบัติภาวนา สวดมนต์ ทำวัตรเช้า ทำกิจส่วนตัว แล้วเตรียมตัว ออกบิณฑบาต ครั้นรุ่งอรุณ พระป่า จากอรัญญวาสี จะออกบิณฑบาต เป็นแถว เป็นแนว เป็นระเบียบ

บรรยากาศ ยามรุ่งอรุณ กลิ่นไอธรรมชาติ ความบริสุทธิ์ ของชนบท ดวงหน้า ที่เอิบอิ่มใน บุญกุศล ของชาวบ้าน เป็นภาพชีวิต อันประทับใจ ผู้ได้สัมผัส พระป่าจะต้อง ออกบิณฑบาต ทุกวัน นอกจาก อาพาธ หรือเดินไม่ได้ ตามปกติ วัดป่า ต้องอยู่ ห่างหมู่บ้าน เพื่อให้พ้นจาก การรบกวน คน สัตว์ และ เสียงอึกทึก แต่ต้องไม่ไกล เกินไป จนเดินไปบิณฑบาต ไม่ไหว โดยมาก เว้นระยะห่าง จากหมู่บ้าน ประมาณ 2-3 กิโลเมตร ซึ่งพอจะเดินไปกลับ ได้ภายใน หนึ่งชั่วโมง

ารอบรม พระป่า ตามวัดต่างๆ ในสายท่าน พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จะอาศัยหลัก อย่างเดียวกัน แต่การปฏิบัติ แตกต่างกันไป ตามความเห็น และความถนัด ของท่านอาจารย์ ทุกวัด มีการเน้นเรื่อง ศีล พระป่า ทุกองค์ จะต้องรักษาศีล อย่างบริสุทธิ์

ในการะบวนไตรสิกขา ศีลเป็นข้อที่ ง่ายที่สุด และเท่ากับ เป็นเครื่องทดสอบ พระภิกษุ เพราะ การรักษาศีล ต้องการเพียง ความตั้งใจ เท่านั้น ถ้าผู้ใด รักษาศีล ให้บริสุทธิ์ ไม่ได้ ผู้นั้น ก็ไม่มีหวัง ที่จะก้าวหน้า ไปถึงธรรมชั้นสูง ศีลเป็นเครื่องรองรับ หรือเป็นฐาน ของสมาธิ ทำให้สมาธิ เกิดง่าย และตั้งอยู่ โดยมั่นคง ศีลต้องดีก่อน สมาธิ จึงจะดีได้

นอกจากนั้น ในการออกธุดงค์ แสวงหา ที่สัปปายะ สำหรับอบรมจิต จะต้องฝ่าอันตราย ต่าง ๆ นานา พระธุดงคกรรมฐาน หรือพระป่า ท่านมีความเชื่อมั่นว่า ศีลที่บริสุทธิ์ จะเป็นเกราะกำบัง ที่ดีที่สุด พระอาจารย์ชั้นผู้ใหญ่ แต่ละองค์ มีประวัติ บุกป่าฝ่าดง ไปในแดนสัตว์ร้าย เช่น เสือ ช้าง และงู ทนแดด ทนฝน ทนลมหนาว ต้องผจญกับ มนุษย์ ที่ถูกอวิชชาครอบงำ…. แต่เพราะท่าน รักษาศีลบริสุทธิ์ สัตว์ร้าย หรือคนร้าย ตลอดจน สภาวอากาศ ที่แปรปรวน ก็ไม่อาจ ทำอันตรายท่านได้ เพราะฉะนั้น พระป่า ที่จะออกธุดงค์ จะต้องแน่ใจว่า ศีลของท่าน บริสุทธิ์จริง ๆ เพื่อให้มั่นใจ ในข้อนี้ และแน่ใจว่า จะไม่พลั้งเผลอ ท่านจึงรักษาศีล ให้บริสุทธิ์อยู่ เสมอ

ในวัดป่า จะมีการไหว้พระ สวดมนต์ร่วมกัน การสวดมนต์ มีผลให้ใจสงบลง เป็นการเตรียม สำหรับ การภาวนาต่อไป ตามปกติ เมื่อฉันเสร็จ จัดการชำระล้าง ทำความสะอาด บาตร เรียบร้อยแล้ว พระป่า ท่านจะกลับกุฏิ มาลงมือภาวนา ส่วนมาก มักจะเริ่มด้วยการ เดินจงกรม เพื่อแก้อาการง่วง ซึ่งอาจเกิดขึ้น ภายหลังฉันอาหาร ใกล้ ๆ กับกุฏิ ทุกหลัง จะมีลานเดินจงกรม กว้างประมาณ 1 เมตร ยาวประมาณ 10-15 เมตร ระหว่างเดิน อาจบริกรรมภาวนา หรือพิจารณา เกี่ยวกับสังขาร ร่างกาย จุดประสงค์ เพื่อให้เกิดความสงบ เกิดสมาธิ หรือปัญญา เมื่อหยุดเดิน ก็เข้าที่นั่งภาวนา พอเมื่อย หรือ ง่วง ก็ออกมาเดินอีก สลับกันไป ในการภาวนา พระป่า สายท่าน พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล และ พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต จะใช้บริกรรม "พุทโธ" รวมกับอานาปานสติ เช่น หายใจเข้านึก พุท หายใจออกนึก โธ หายใจเข้านึก พุท หายใจออกนึก โธ ซึ่งวิธีเหล่านี้ ใช้กันโดยทั่วๆ ไป

ครูบาอาจารย์ จะคอยติดตาม การดำเนินของการปฏิบัติ อยู่เสมอ โดยการซักถาม ปรากฎการณ์ ทางจิต ของศิษย์ จึงสามารถ ดัดแปลงแก้ไข การปฏิบัติ ให้เหมาะสม กับภาวะ ของแต่ละคน ช่วยให้ได้ ผลดีขึ้น ไปเรื่อย ๆ ถ้าหากมีอะไร แทรกแซงขึ้นมา เช่น นิมิตเห็น ภูตผีปีศาจ หรือยักษ์ เห็นมาร อาจารย์ ก็จะชี้แจง ให้ทราบความหมาย ของนิมิตนั้น ๆ และบอกวิธี ที่จะป้องกัน ไม่ให้เกิดขึ้น ต่อไป หลักสำคัญ ประการหนึ่ง ซึ่งท่านอาจารย์ ในสายของท่าน พระอาจารย์มั่น เน้นอยู่เสมอ คือ
"ธรรมะทั้งหลาย อยู่ภายในกาย ของเราเอง"

ในการพิจารณา ให้ส่งจิต เข้าภายในกาย ไม่ให้ส่งออก ไปภายนอก เพราะนอกจาก จะไม่ได้ ประโยชน์แล้ว ยังจะเกิดการล่องลอย ของจิตอีกด้วย การแสดงธรรมของ พระป่า ไม่มีพิธีรีตองอะไร มากนัก แต่จะเน้นที่ เนื้อหาสาระ ใช้ภาษา สำนวน ที่ฟังง่าย เข้าใจง่าย ตรงไปตรงมา

การอบรมจิต แนะนำ การเจริญภาวนา วิปัสสนากรรมฐาน เป็นภาระกิจ ที่ครูอาจารย์ จะต้องให้การ อบรม แนะนำแก่ศิษย์ ทั้งที่เป็นพระภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา และชาวบ้านทั่วไป

ปฏิปทาศีลาจารวัตร ของครูบาอาจารย์ใหญ่ พระอาจารย์เสาร์ กันตสีโล พระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต และสานุศิษย์ของท่าน อีกหลายองค์ เป็นประทีปนำทาง ให้พระป่า มีความวิริยะ อุตสาหะ ในการบำเพ็ญ ความเพียร เพราะเห็นแสงสว่าง ข้างหน้า ขอเพียงให้เดินโดยถูกทาง ถูกวิธี ไม่ย้อท้อ ต่อความยากแค้น และอุปสรรคทั้งมวล

พระป่า พระธุดงค์กรรมฐาน เป็นผู้ชูธงชัย แห่งกองทัพธรรม ของพระพุทธองค์ เป็นผู้ วีรอาจหาญ เป็นนักรบ ที่จะสู้ กับกิเลสตันหา ความดิ้นรน ทะยานอยาก เพื่อมุ่งสู่จุดหมาย คือ มรรคผล นิพพาน ตามรอยพระยุคลบาท พระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้รู้. ผู้ตื่น. ผู้เบิกบาน.

ธุดงควัตร 13

1. ถือการนุ่งห่มผ้าบังสุกุลเป็นวัตร
2. ถือการนุ่งห่มผ้าสามผืนเป็นวัตร
3. ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร
4. ถือการบิณฑบาตไปโดยลำดับแถวเป็นวัตร
5. ถือการฉันจังหันมื้อเดียวเป็นวัตร
6. ถือการฉันในภาชนะเดียวคือฉันในบาตรเป็นวัตร
7. ถือการห้ามภัตตาหารที่เขานำมาถวายภายหลังเป็นวัตร
8. ถือการอยู่ป่าเป็นวัตร
9. ถือการอยู่โคนต้นไม้เป็นวัตร
10. ถือการอยู่อัพโภกาสที่แจ้งเป็นวัตร
11. ถือการอยู่ป่าช้าเป็นวัตร
12. ถือการอยู่ในเสนาสนะตามมีตามได้เป็นวัตร
13. ถือเนสัชชิกังคธุดงค์ คือการไม่นอนเป็นวัตร
การถือธุดงคบำเพ็ญได้ด้วยการสมาทานคือด้วยอฐิษฐานใจ หรือแม้นด้วยการเปล่งวาจา คุณประโยชน์ของธุดงควัตร คือ การยังชีพโดยบริสุทธิ์ มีผลเป็นสุข เป็นของไม่มีโทษ บำบัดความทุกข์ของผู้อื่นเสีย เป็นของไม่มีภัย เป็นของไม่เบียดเบียน มีแต่เจริญฝ่ายเดียว ไม่เป็นเหตุให้เสื่อม ไม่มีมารยาหลอกลวงไม่ขุ่นมัว เป็นเครื่องป้องกัน เป็นเหตุให้สำเร็จสิ่งที่ปรารถนา กำจัดเสียซึ่งศัสตราทั้งปวง มีประโยชน์ในทางสำรวมเป็นเครื่องสมควรแก่สมณะ ทำให้สงบยิ่ง เป็นเหตุให้หลุดพ้น เป็นเหตุให้สิ้นราคะ เป็นการระงับเสียซึ่งโทสะทำโมหะให้ พินาศไปเป็นการกำจัดเสีย ซึ่งมานะ เป็นการตัดเสีย ซึ่งวิตกชั่ว ทำให้ข้ามความสงสัยได้ กำจัดเสียซึ่งความเกียจคร้าน กำจัดเสีย ซึ่งความไม่ยินดีในธรรม เป็นเหตุให้มีความอดทน เป็นของชั่งไม่ได้เป็นของหาประมาณมิได้ และทำให้สิ้นทุกข์ทั้งปวง

อานิสงส์ การปฏิบัติธุดงควัตร ทำให้พระป่าที่จาริกไป ตามป่าเขา พำนักตามโคนไม้ เพิงผาและ ตามถ้ำเป็นอยู่อย่างสมถะ เสียสละ ลดละอุปโภคบริโภค ทำให้จิตของท่าน เป็นอิสระพ้นจาก พันธนาการเครื่องร้อยรัดขัดขวาง สู่ความเบาสบาย สงบเอื้อต่อการเจริญสมาธิภาวนา บำเพ็ญความเพียร การท่องไป ในป่าที่ดารดาษ ไปด้วยสิงสาราสัตว์ ภัยอันตราย เป็นการฝึกจิต หลอมใจ ให้เข้มแข็ง มีสติระลึกรู้ มีบทบริกรรม พุทโธ อยู่กับสายลมหายใจ การเจริญสติ ก่อให้เกิดสมาธิ และจิตตานุภาพ พระธุดงคกรรมฐาน สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโตจะผ่านการประหารกิเลส ด้วยธุดงควัตร จิตของพระคุณเจ้า จึงมั่นคง เข้มแข็งด้วย ศีลสมาธิปัญญาศรัทธาความเพียร

พระป่า สายท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทัตโต ผู้มอบกายถวายชีวิต ในพระพุทธศาสนา ดำเนิน เดินตามทางรอยธรรม พ่อแม่ครูอาจารย์ ธุดงคจาริกไป ตามวนาป่าเขา เพื่อผลานิสงส์ ในการเพิ่มพูน บารมีธรรมแห่งพระบรมศาสดา สัมมาสัมพุทธเจ้า เพื่อมรรคผล นิพพาน เพื่อสงเคราะห์โลก แลสรรพสัตว์ เป็นเนื้อนาบุญของพระพุทธศาสนา เป็นขุนพลกล้า แห่งกองทัพธรรมพระกรรมฐาน ที่มีคุณูปการ อเนกอนันต์ ตราบนิรันดร์สมัย


ที่มา : http://board.palungjit.com/showthread.php?t=93373

 
  Today, there have been 4 visitors (12 hits) on this page!  
 

Tracked by Histats.com

This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free