วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร อ.บัวเชด จ.สุรินทร์
   
  วัดเขาศาลา watkaosala.com
  01 พุทโธ แสงสว่าง
 

พุทโธ แสงสว่างและไส้ตะเกียง

เทศนาที่วัดบรมนิวาส อาทิตย์ 20 พฤศจิกายน 2548

วันนี้มีแต่ครูบาอาจารย์ใหญ่ๆ ท่านนั่งด้วย หลวงพ่อแปลง นี่ก็เป็นพระเถระผู้ใหญ่ มีแต่เกจิ ท่านเจ้าคุณ ท่านอาจารย์สุรเสียง จอมขมังเวทย์ แต่ไปอยู่มหาสารคาม ไปอยู่สุรินทร์ไปแจกของที่สุรินทร์

วันนี้ถือเป็นวันประวัติศาสตร์นะ ถ้าไม่ใช่วันประวัติศาสตร์ ปกติมาฟังอาตมาเทศน์อยู่ไม่เกิน 10 คน วันนี้มาเลี้ยงพระ ที่อยู่เยอะๆ นี่ก็ท่านเจ้าคุณท่านปิดประตูไม่ให้ออก คือเจตนาของท่านนั่นดีมาก แต่เราก็ควรสนองเจตนาเนาะ เดี๋ยวใส่แว่นตาซะ ถ้าไม่ใส่แว่นตาให้โยมเห็นหน้าจะพูดไม่ออก คือจริงๆ แล้วก็ ครูบาอาจารย์ท่านก็เอามาขึ้นธรรมมาสน์เรื่อย ความจริงอาตมาไม่ใช่นักเทศน์พูดตรงๆ บอกไม่ใช่เลย คือไม่ใช่ทั้งล้านเลย คือขึ้นมาก็พูดว่าไปอย่างนั้นๆ เลยบางคนนึกว่า โอ…. อาจารย์เยื้อนเป็นนักเทศน์ เคยเทศน์บางแห่งให้ศีลผิดเลย โยมไปตามล่าเอาศีลคืน เพราะมองเห็นหน้าโยมเยอะๆ เลยลืมศีลไป เพราะอยู่ที่วัดเห็นแต่ต้นไม้ มาเห็นหน้าโยมเยอะๆ ศีลหลุดเลย ศีลกระโดดไปที่อื่น

วันนี้ก็ รู้สึกว่าเวลามันกระชั้นชิดมากพอสมควร บอกให้เทศน์ 5 นาที นี่ห้านาทีไปแล้ว อย่างนี้ต้องให้ยะถาไปเลย ห้านาทีสิบครั้ง ถ้างั้นต้องขอโอกาสท่านอาจารย์แปลง ท่านเจ้าคุณ ท่านอาจารย์สุรเสียงด้วย วันนี้ผมเป็นผู้น้อย ไหนๆ จับมาขึ้นธรรมมาสน์แล้ว ก็มาเป็นวิทยากรอบรมท้างด้านจิตใจ ผิดพลาดประการใด ก็ขอให้อาจารย์ช่วยแนะหลังจากลงธรรมมาสน์แล้วครับ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

นะโม ตัสสะ ภะคะวะโต อะระหะโต สัมมา สัมพุทธัสสะ

วันนี้ก็ถือว่าเป็นวันสำคัญวันหนึ่ง ของพวกเราชาวพุทธ

คือวันสำคัญอะไร คือวันสำคัญในการถวายพระพุทธรูปให้แก่วัด โดยผู้มีจิตศรัทธาเลื่อมใสในคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า เสียสละสมบัติส่วนตัว เพื่อสร้างพระพุทธรูปให้คนบูชา อันนี้เป็นพิธีหนึ่งของพวกเราชาวพุทธ คือเราระลึกพระพุทธเจ้าไว้ในใจไม่ได้ ก็สร้างพระพุทธรูปไว้เป็นองค์ๆ เลย

วันนี้ที่จะพูดก็คือด้านจิตใจ เพราะว่าการทำบุญทำทานให้ศีลภาวนา เฉพาะครูบาอาจารย์ท่านชำนิชำนาญในการพูดคล่องแคล่ว อาตมาเองก็ระยะเวลามันสั้น ก็ขอให้ญาติโยมทั้งหลาย คือ การฟังธรรมก็คือน้อมเข้ามา น้อมเข้ามาสู่จิตใจของเรา เพราะเราอยากเห็นธรรม เราต้องระลึกถึงธรรม ถ้าเราอยากเห็นธรรมแล้วไม่ระลึกถึงธรรม ธรรมนั้นจะมาปรากฏในใจเราก็ไม่ได้ ในการที่ระลึกถึงธรรม เราจะกราบไหว้อย่างเดียวโดยใจไม่กราบเลยก็ไม่ถึงธรรม

ถ้างั้นพวกเราก็เป็นผู้ตื่นต่อธรรมแล้ว ก็อยากให้ทุกคนนึกถึงธรรมในใจ ให้ธรรมะของพระพุทธเจ้าไว้ในใจของเรา พระธรรมไว้ในใจของเรา พระสงฆ์ไว้ในใจของเรา ตัวนี้เป็นตัวสำคัญที่สุด ทำไมว่าสำคัญ เพราะว่าพวกเราเป็นผู้พร้อม บุคคลที่มีความพร้อมที่จะน้อมธรรมเข้าไปสู่ใจได้ ถ้างั้นการน้อมธรรมก็มีหลายวิธี ตั้งแต่การสวดมนต์ก็คือน้อมธรรม

การทำบุญ การให้ทาน ก็คือการน้อมธรรม
แต่การภาวนานั้นคือน้อมธรรมด้วยการเตรียมพร้อม

การน้อมคือการภาวนา การนั่งภาวนาเนี่ย เราต้องนึกพุทโธ พุทโธเนี่ยมันคือแสงสว่าง พุทโธก็คือแสงสว่าง

ถามว่าใครบ้างไม่อยากได้แสงสว่าง
ทุกคนก็คงจะตอบทางเดียวกันว่า แสงสว่างฉันต้องการ
แต่แสงสว่างที่จะเกิดขึ้นในใจเรานั้นน่ะ มันก็มีวิธีการหลายอย่าง

เพราะแสงสว่างที่เกิดขึ้น ถ้าเป็นตะเกียงก็ต้องมีทั้งตัวตะเกียง และต้องมีไส้ตะเกียง แล้วก็ต้องมีน้ำมันหล่อเลี้ยงไส้ตะเกียง ต้องมีชนวนตะเกียงอีกด้วย แล้วก็ต้องไปจุดตะเกียง ก็ต้องมีคนจุด เพราะตะเกียงเองจุดตัวเองไม่ได้ใช่ไหม

เพราะงั้นพวกเราเนี่ย ตะเกียงเราก็มีพร้อมแล้ว น้ำมันก็พร้อมแล้ว ไส้ตะเกียงเนี่ย เราก็มีพร้อม แต่ทุกคนไม่เคยสนใจไส้ตะเกียง

ส่วนมากจะสนใจแต่ตัวตะเกียง ไส้ตะเกียงนี่ตัวสำคัญ ทำให้เกิดแสงสว่างได้ ถ้ามีไส้ตะเกียงก็พร้อมที่จะมีชนวนขึ้นมาก็คือ พร้อมที่จะมีคนจุด

คนจุดตะเกียงของเราให้แสงสว่างก็คือครูบาอาจารย์เป็นผู้จุดให้ การจุด ถ้าตะเกียงไม่มีไส้ จุดไปก็ไม่มีแสงสว่าง ถ้าตะเกียงไม่มีน้ำมัน จุดไปก็ไม่มีน้ำเชื้อ เติมให้เกิดพลัง ให้เกิดแสงสว่างได้ ถ้างั้นพวกเราตอนนี้ ทั้งสองสามสี่อย่าง ห้าอย่างนี่ ก็เรามีพร้อมแล้ว

แต่ตอนนี้เราก็มาจุดตะเกียงภายในใจของเรา ให้เกิดแสงสว่างคือ พุทโธ
เราน้อมอยู่ในใจของเรา มาดูใจของเรา

คำว่าพุทโธ พุทโธนี่ คือเรานึกว่า การนึกว่าพุทโธ ก็ไม่ได้ยากลำบากอะไร ก็นึกในใจ
การที่เรานึกแล้ว เราก็มาดูผู้นึกว่าพุทโธ การนึกว่าพุทโธก็ไม่เสียหาย นึกว่าพุทโธแล้วดูพุทโธ ยิ่งเราดูพุทโธ พุทโธก็พร้อมปรากฏให้เราเห็น สิ่งที่เราเห็นพุทโธก็คือความสุข ความสุขที่เราบริกรรมพุทโธก็มีความสุขนั่นล่ะ สิ่งที่เราเห็น ที่เราสัมผัสได้ ไม่ใช่เห็นเหมือนวัวเหมือนควาย มันเป็นสิ่งที่สัมผัสได้

พุทโธๆ ตัวนี้ก็สำคัญมาก ให้ทุกคนน้อมเข้ามาสู่ภายใน ถ้าเราไม่นึกในใจ เราไม่นึกในไส้แล้ว ความสว่างตรงนี้ก็ไม่เกิด เราต้องดูไส้เรา ก็คือการน้อมเข้ามา ให้เราประหยัดในความรู้สึกนึกคิด ให้เรากระโดดในความรู้สึกนึกคิด ถ้าเราจะคิดให้มันเกิดในแสงสว่างขึ้น ต้องนึกคิดอย่างเดียว คือพุทโธๆ น้อมเข้ามาสู่ในใจของเรา ดูตรงนี้เราดูเท่าไหร่เรายิ่งได้ เราดูเท่าไหร่ ความสุขก็จะเกิดขึ้นกับเรา

เพราะส่วนมากความทุกข์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นทั้งหมดไม่ได้มาจากตรงนี้เลย มันมาจากจุดที่เราไปแสวงหามันนั้น ถ้าเราไปแสวงหาว่าสิ่งนั้นก็เป็นของเรา สิ่งโน้นก็เป็นของเรา ทั้งหมดนั้นคือตัวทุกข์
ถ้าเราไม่แสวงหาตรงนั้นแล้ว ตัวทุกข์ทั้งหลายมันก็จะหลุดออกไป เพราะความทุกข์นั้นมันอยู่ภายนอก เรายังไม่มีความทุกข์ภายในใจ

แต่ตอนนี้เรามาดูที่ใจของเรา บริกรรมพุทโธไว้ กำหนดไว้ ให้มีความรู้สึกระลึกภายในใจของเรา เพราะการระลึกรู้เนี่ย มันไม่ยาก ยางคนบอกว่าให้น้อมให้นึกพุทโธได้อย่างไร นึกเท่าไหร่ก็ไม่เห็น

อาตมาก็เคยบอกหลายคนอยู่ว่า เราโกรธคนโกรธกันตรงไหน เขาบอกโกรธจากใจ ถ้าโกรธจากใจ ก็นึกพุทโธไว้ที่ตรงนั้น มันก็เปลี่ยนจากการโกรธมาเป็นพุทโธก็ได้ เนี่ย..เราต้องคิดตรงนี้

การนึกพุทโธมันต้องมีเป้า มีเป้าหมาย เพราะเป้าหมายเนี่ยตัวสำคัญมาก ต้องมีที่ตั้ง มีฐานมัน ถ้าไม่มีฐานมันแล้วก็เราไม่รู้เอาพุทโธนี่กำหนดไว้จุดไหน บางคนก็กำหนดตรงปลายจมูกบ้าง ตรงหน้าผากบ้าง ตรงลมหายใจเข้า หายใจออกบ้าง อันนี้คือมันง่ายในการกำหนด การรับรู้การกำหนด แต่ว่า มันก็ยังผลักอยู่ภายนอกอยู่ดี

แต่ถ้าเราต้องการให้เข้าไปข้างใน เราต้องมีที่ตั้งภายในของเรา

การตั้งภายใน เราเอาฐานในร่างกายฐานใดฐานหนึ่ง เหนือสะดือของเราก็ได้ ตรงลิ้นปีของเราก็ได้ เราก็นึกพุทโธไว้ตรงนี้ ตาที่เราหลับไป เราก็เพ่งลงดูพุทโธๆ ไม่ใช่ว่าพุทโธ แล้วก็บอกว่า กำหนดลมหายใจเข้าไป ไปถึงสะดือแล้วลมหายใจขาด การนั่งภาวนาก็ยืดขึ้นๆ ลมขึ้นๆ ลงๆ

ความจริงมันไม่ถึงขนาดนั้นหรอก เหมือนโยมนึกถึงหน้าอาตมา โยมก็ไม่เอาลมเข้ามาที่ไหน อาตมานึกถึงหน้าโยม อาตมาก็ไม่ได้เอาลมไปด้วย เพียงแต่ว่านั่นคือฐานเป้าหมายที่เรานึกไว้ตรงนั้น ถ้าเรามีความรู้สึกตรงนี้ นึกคิดตรงนี้ การที่เราจะภาวนา เราก็มีที่จดจ้องจำ มีที่กำหนดรู้ มีที่กำกับดู

ถ้าเรามีที่กำหนดรู้ กำกับดู มันก็ง่าย ทุกสิ่งทุกอย่างก็ค่อยๆ ปล่อยไปเอง ทุกสิ่งทุกอย่างก็ค่อยๆ เบาลง ลงไปเอง ก็เพราะเราไม่แบกภาระข้างนอกไว้ เพราะเรามีแต่สิ่งหนึ่งที่ต้องทำให้เกิดความรู้สึก

เพราะพุทโธตัวนี้ ถ้าเรามีความรู้สึกในฐานของเราว่า มีที่ตั้งแน่นอนตลอดไป ไม่ว่าทุกวินาทีที่เรากำหนดภาวนานะ ในความรู้สึกของเราก็จะเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ

ถ้าเรามีความนิ่ง มีฐานที่ตั้งดีดีแล้ว สิ่งทั้งหลายทั้งปวง ความรู้สึกอื่นๆ มันก็ค่อยหมดไป เพราะที่หมดไป เพราะเราไม่ได้จงใจหรอก จิตใจของเราจะสงบได้ก็ต้องมีที่ตั้ง มีฐานที่แน่นอน มีฐานที่ระลึกรู้ ถ้ามีฐานที่ระลึกรู้ เรานึกไปเรื่อยๆ พุทโธๆ พุทโธเนี่ยมันเป็นการสัมผัสรู้ว่าพุทโธ พุทโธนึกว่าพุทโธ และหลับตาก็เห็นดู

ถ้าจิตใจของเราอยู่ในหลักการตรงนี้แล้ว ความฟุ้งซ่านรำคาญต่างๆ ก็จะหมดไป ที่มันหมดไปเพราะเราไม่ได้สนใจ การกำหนดตรงนี้เรื่อยไป จนจิตใจของเรานิ่ง ละเอียด

การนิ่งคือ นึ่งและละเอียดเข้าไป แล้วเราดูตรงนี้นานๆ ไป การนิ่งละเอียดเต็มที่ไปแล้ว จิตใจของเราก็พร้อมที่จะ มีความเคลื่อนตัว การเคลื่อนตัวของจิต ความรู้สึกตรงนี้คือ จากการที่เรากำหนดพื้นฐานพอประมาณแล้ว ถ้ามันนิ่งเต็มที่แล้ว ความเคลื่อนตัวมันก็จะละเอียด ความละเอียดของความรู้สึกตรงนี้ ก็ละเอียดไปละเอียดไปเรื่อยๆ และก็แผ่วๆไปเรื่อยๆ จากการที่ เหมือนกับฐานที่ตั้งเอาแค่นิ้วมือ

แต่ถ้ายังมีความรู้สึกตรงนี้นานต่อเนื่องไป ที่ว่าเราไม่สนใจภายนอกเลย ความละเอียดนี่พร้อมจะปรากฏให้เราเห็น จากการที่เท่านิ้วมือ ให้เล็กเอาเท่าๆ กับเส้นผม จากเส้นผมก็เหลือแต่ละออง เหมือนละอองแอร์ ที่สัมผัสอากาศ ถ้ามันถึงขนาดนั้นแล้วจิตใจของเราพร้อมที่จะไปสู่ความสงบว่างทันที

ถ้าจิตของเรามันพร้อมที่จะอยู่กับความสงบได้ เพราะความสงบเราจะไปตั้งใจก่อนไม่ได้ เราต้องทำความรู้สึกตรงนี้อันดับแรก เพื่อไปสู่ความสงบได้

ถ้าเราไปตั้งว่าจิตจะต้องสงบอย่างนี้ๆ และต้องสงบอย่างนั้น ถ้าเราคิดอย่างนี้เมื่อไหร่ จิตใจของเราก็ไม่สงบ แล้วก็ไม่ไปถึงตรงนั้นด้วย

เพราะฉะนั้นการภาวนา ต้องทิ้งภาระให้หมด ถึงจิตใจของเราจะสงบได้

บางคนบอกว่าภาวนามาแล้ว ยี่สิบกว่าปี ทำไมไม่รู้สึกสงบซะที มีแต่นิ่งๆ การที่นิ่งๆ ก็มาจากการที่ว่าสงบไม่ได้

โยมนิ่งอยู่ แต่โยมยังคิดอยู่ภายนอกอยู่ส่วนหนึ่ง คือตัดไม่หมด ไม่ถึงร้อย คือเหมือนเราตัดได้ เรานิ่งอยู่ 80 เปอร์เซ็นต์ อีกยี่สิบเปอร์เซ็นต์ ยังสัมผัสรู้ภายนอก การสัมผัสเลือกสัมผัสภายนอกอยู่ มันสงบไม่ได้

จิตตราบใดที่ยังสัมผัสภายนอก จิตนั้นก็สงบไม่ได้ ถ้าตัดสัมผัสภายนอกหมด เหลือแต่ผู้รู้ตรงนี้ที่พร้อมจะลงทันที จิตพร้อมที่จะสงบได้ทันทีเลย

ถ้างั้นปัญหาทั้งหมดที่ว่า โยมบอกว่าภาวนาไม่สงบมีแต่นิ่ง ไม่รู้อะไรเลยต่างๆ นานา โยมจะไปโทษใคร เพราะเราไม่ตัด เรายังมีความกังวล เรายังมีสัญญาอารมณ์อยู่ กุ๊กกิ๊ก กุ๊กกิ๊ก ตลอด ไอ้ตัวนี้ก็นึกพุทโธ ไอ้ตัวนึงก็ไปจับตรงโน้น ซ่อกแซ่กๆ มา เลยไม่ขาด เลยไม่สงบไม่ได้ เพียงแต่รับรู้ว่าเออนี่จิตนิ่ง นี่จิตของเรานิ่งนะ มีความสุขนะ ถ้าจิตสงบแล้วเราจะมีความสุขขนาดไหน เราต้องตัดให้หมด

การตัดให้หมด ไม่ยาก เราเพ่งความรู้สึกของเราให้อยู่กับฐานผู้รู้ เขาเรียกผู้บริกรรมพุทโธ อย่างเดียวพุ่งมาตรงนี้เลย

แม้แต่เรานึกพุทโธแต่ร่างกายนั่งของเราเองนี่ไม่ได้สนใจเลย เกือบเหมือนไม่มีกายนี่ ถ้าเรารวมมาให้เป็นหนึ่งกับพุทโธแล้ว ผู้รู้ของเรา กายไม่เกี่ยวข้องเลย

เราจะมีสิ่งหนึ่งเขาเรียกธาตุรู้ ธาตุรู้ตัวนี้มาจะเกิดพร้อมไปสู่ความสงบได้ บางคนนั่งไปแล้วร่างกายไม่มีเลย มีแต่ผู้รู้ตรงนี้ นั่นล่ะถูกต้องเลย
แต่บางคนพอนั่งไปแล้ว จิตมันไปรับรู้ภายนอก ถ้าจิตของเราจะสงบได้มันต้องอย่างนี้

บางคนบอกจิตของเราสงบแล้ว
ความจริงจิตสงบนี่ล่ะ ตามความจริงของอาตมา จิตสงบไม่เหมือนกัน
ถ้าจิตสงบจริงๆ เหมือนการตาย ตายแล้วจากการตายไปภพหนึ่ง ภพนี้ไปสู่ภพหน้า จิตของเราก็คือเปลี่ยนภพ
คือเปลี่ยนจิต จากจิตปกติไปสู่จิตไม่ปกติ
คือจากจิตที่ไม่มีธรรม ไปสู่จิตที่มีธรรม

ถ้าใครมีความสงบจริงๆ แล้ว มันก็จะมีความแตกต่างอยู่ เพราะถ้าความสงบแล้ว คุณยังนั่งบริกรรมพุทโธๆ อยู่ สูดลมหายใจเข้าหายใจออกอยู่ ตามลมอยู่นี่ ไม่ใช่

ถ้าจิตสงบแล้วมันจะเกิดผู้รู้ขึ้นมา ผู้รู้ไม่เกี่ยวกับคำบริกรรม เพราะมันมีความรู้สึกของภายในอยู่แล้ว คือภายในรู้สึกตลอดเวลา ไม่มีวินาทีไหนไม่รู้สึก คือรู้สึกในธรรม

จิตที่ถอนออกมาแล้วจะเกิดความรู้สึก มันจะว่าพุทโธๆ ภายในจิตของเราเอง เราจะเดินจะเหินไปไหนก็พุทโธตลอด มันจะแน่วตลอดเวลา นั่นล่ะจิตของเราถึงผู้รู้

ถามว่าจะต้องเข้าอีกไหม ความจริงตรงนี้เขาเรียกว่าจิตมันเหนือสมาธิ เพราะจิตมีทีตั้งแล้ว

จิตของเขาอยู่เหนือสมาธิเพราะอยู่กับผู้รู้ ผู้รู้ภายในไม่มีความวุ่นวาย ว่าเขาสงบหรือไม่สงบ แต่เขารู้ สิ่งที่รู้จริงๆ ว่าสงบถึงธาตุรู้ ธาตุทั้งสี่เป็นไตรลักษณ์ ถ้ายังไม่รู้ถึงไตรลักษณ์ เราก็ไม่รู้จริง

ถ้าจิตถึงฐานที่รู้จริงๆ จะดูธาตุทั้งสี่ของเราเป็นไตรลักษณ์ ขันธ์ห้าก็เป็นไตรลักษณ์ คือผู้รู้เป็นผู้ตัดสินว่าตรงนั้นเป็นไตรลักษณ์

ไม่ใช่เราจินตนาการ ว่าร่างกายเราต้องตาย ต้องเสื่อม อันนี้ไม่ใช่
อันนั้นมโนภาพ หลอน ว่าเราต้องตาย วันหนึ่งเราต้องเจ็บ วันนี้เราต้องกิน วันนี้เราต้องถ่าย อันนั้นเขาเรียกหลอนความรู้สึกตัวเอง

แต่ถ้าจิตของเราถึงระดับรู้จริงๆ มันจะเป็นแบบนั้น มันรู้แจ้ง มันรู้แจ้งในธาตุ รู้แจ้งในขันธ์ นั่นแหละจิตของเรามีความอิสระจากธาตุจากขันธ์ ไม่มีอะไรมาครอบงำเขาได้
จิตอิสระเป็นอย่างนั้น ถึงว่า จิตสงบแล้ว บางคนว่า ต้องถอนออกมาแล้วเข้าไปสงบใหม่

อาตมาว่า จิตที่สงบตรงนี้มันไวมากเลย ความฉับไวต่างกันเยอะเลย คือจากความสงบเดียวถึงผู้รู้ มันถึงผู้รู้แล้ว สมาธิจำเป็นต้องเข้าไหม ก็ไม่รู้จะเข้าไปทำไม ถ้าเรายังเข้าสมาธิอยู่ตรงนี้ แสดงว่า เรายังไม่เข้าถึงผู้รู้จริง

ตอนนี้จิตตรงนี้เป็นสภาวะจิตธรรมชาติของจิต มันรู้ตลอด การรู้คือรู้ภายใน ไม่ได้รู้ภายนอก มองเห็นภายนอกคือส่วนหนึ่งเท่านั้นเอง แต่ไม่เอาจิตมาเล่นภายนอกด้วย

จิตก็คือส่วนจิต ธาตุก็คือส่วนธาตุ สิ่งที่เรามองเห็นก็คือส่วนที่เรามองเห็น ไม่มีตัวไหนบังคับตัวไหนได้ ต้องแยกแยะกันหมดเลย เพราะงั้นคือจิตที่มีความปลอดภัยแล้วเราจะนั่งอยู่ยังไงก็ได้

ญาติโยมทั้งหลาย การนั่งภาวนา ทุกคนก็ต้องการความสงบ ฉันสงบแล้วยังมีปฏิกิริยาปกติอยู่ โมโหร้ายเหลือเกิน ถ้าพวกเราภาวนาแล้วสงบ มีธรรมแล้ว ความร้ายกาจของเราใครแตะต้องไม่ได้ โมโหเลยอย่างนี้ หมายถึง ไม่ถึง ถ้าถึงจะไม่สัมผัสสิ่งนี้

บางคนตั้งใจแต่จะกำจัดกิเลสอย่างเดียวนะ แต่ไม่รู้จักกิเลสคืออะไรเลย

ความจริงกิเลสโยมไม่ต้องไปตัด ให้โยมเข้าไปรู้จักว่ากิเลสคือความอยาก ต้องการทั้งหลาย คือตัณหา

เราเข้าไปรู้จักมัน เข้าใจมัน จะใช้มันหรือไม่ใช้มัน สิ่งใดเกิดประโยชน์ สิ่งใดไม่เกิดประโยชน์ ถ้าไม่เกิดประโยชน์ก็ไม่ใช้มัน ไม่จำเป็นต้องใช้ มันเป็นโทษกับเราไหม ไม่เป็นโทษเลย

การภาวนาเนี่ย เราต้องมีสติรู้เท่ารู้ทัน ในความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง น้อมเข้ามาสู่ที่ใจเรา เพราะกาลเวลามันไวมาก ถ้าหากเรามัวแต่ปล่อยปละละเลย ไปคิดจินตนาการ สารพัดจินตนาการ บอกตรงๆ อย่างนั้นไม่ใช่สรณะเลย ญาติโยมทั้งหลาย พยายามให้เราคิดถึงตัวเอง และน้อมนึกพุทโธเข้าไป ให้จิตของเราเข้าถึงพุทโธ ถ้าจิตของเราเข้าถึงพุทโธแล้ว เราก็จะมีความสุข

พุทโธมีความหมายคือ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน บางคนบอกว่าภาวนาพุทโธไม่เห็นถึงนิพพาน ภาวนาอย่างนั้นอย่างนี้ถึงนิพพาน นั่นคือคำกล่าวของคนอื่น ถ้าคนถึงจิตแล้วเขาจะไม่มีคำพูดตรงนั้น

คำว่านิพพาน ถ้าทุกคนมีความตั้งใจจะได้ ทุกคนทำหน้าที่ของตนเองให้ถึงก็แล้วกัน ไม่ต้องว่าบทนั้นไม่ถึง บทนี้ไม่ถึง มันไม่ใช่ ความหมายคือภายในจิตของเรา จิตดวงเดียวดวงนี้ของเรานั่นแหละ ภาระทั้งหลายทั้งปวงที่เกิดขึ้น ในร่างกายในสิ่งแวดล้อมทั้งหมดนั้นไม่ใช่ตัวเรา นั้นเป็นสิ่งที่เป็นภาระอันหนักหน่วง

ถ้าจิตของเราทำดีแล้ว ภาระก็เป็นภาระ จะไม่มาเป็นภาระเลย
จิตก็คือจิต ภาระก็คือภาระอยู่ด้วยกันได้

ทำไมพระอรหันต์ท่านอยู่ในโลกนี้ได้ ทั้งที่โลกนี้ก็วุ่นวาย ก็เพราะหนึ่ง ร่างกายท่านก็อยู่ในโลกนี้ จิตของท่านก็อยู่ในโลกนี้ แต่อยู่ในโลกที่มีความปลอดภัยก็เลยไม่กระทบกระเทือนซึ่งกันและกัน เนี่ยมันเป็นอย่างนี้

เพราะฉะนั้นถึงว่าการปฏิบัติธรรม โยมบอกว่าทำไมไม่สงบ เพราะโยมตัดมันไม่หมด ถ้าโยมตัดหมดเมื่อไหร่ ความสงบไม่ต้องกล่าวเลย มันมาเองเลย เสริมพลังกันทันทีเลย ปึ้ง ปึ้ง ปึ้งเลย จิตจะดิ่งลงปื้ดเลย สงบทันทีเลย ถ้าตัดขาดเมื่อไหร่ ก็ดิ่งลงทันที เหมือนลูกดิ่งที่ใช้ยิงเสาอะไร ถ้าโยมไม่ปล่อยเลย โยมเขย่าๆ ลูกดิ่งก็ไม่ถึงเป้าหมาย ถ้าเราดูแล้วว่าลูกดิ่งตรงเป้าหมายแล้ว ปล่อยเชือกปุ๊บ หลุดเลย เป้าหมายที่เราดิ่งลงไปก็ตรงเผงเลย แต่ว่าเราไม่ยอมปล่อยเลย มันก็แกว่งไปเรื่อย ไม่ตรงซะที ถ้าเราปล่อยปุ๊บ ตรงปุ๊บ ใช้งานได้ทันที

จิตของเราฉันใดก็เป็นฉันนั้น เราต้องปล่อยอารมณ์ข้างนอกให้เหลือแต่อารมณ์ภายใน ถ้าอารมณ์ภายในนะแจ๋วเลย

ถ้าใครรู้แล้วจะเข้าใจเลยไม่ต้องอธิบายว่ามันเป็นอย่างโน้นมันเป็นอย่างนี้ ถ้าคนที่ถึงตรงนั้นแล้วจะรู้เอง จะชัดเจน เพราะฉะนั้นธรรมทั้งหลายที่แสดงมานี้เรียกว่าธรรมกระทัดรัด พอประมาณ

ข้อคิดทั้งหลายที่โยมได้ฟังไปแล้ว อะไรที่เป็นประโยชน์แก่ญาติโยมที่พอจะใช้สอยได้ในชีวิตประจำวันของเรา เราก็เอาไปประพฤติปฏิบัติ

เพราะมันเป็นการรีบเร่งกันทั้งนั้น เพราะเวลาการตายนี้ไม่บอกกันเลย การเจ็บป่วยทั้งหลายก็ไม่บอกเลย บางครั้งรอๆๆจนเป็นมะเร็งนอนอยู่ในโรงพยาบาล ไม่ทันการแล้ว เสียดาย บุญจะทำ ก็ทำไม่ทันแล้ว มาป่วยก่อน เอาเงินไปรักษาโรคก่อน ไม่ได้ทำบุญ เพราะงั้นการบรรยายธรรมก็สมควรแก่เวลา เอวังก็มีด้วยประการฉะนี้

 
  Today, there have been 4 visitors (18 hits) on this page!  
 

Tracked by Histats.com

This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free