วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร อ.บัวเชด จ.สุรินทร์
   
  วัดเขาศาลา watkaosala.com
  03 จิตตภาวนา
 

พระอาจารย์เยื้อน ขนฺติพโลสนทนาธรรมกับญาติโยมเรื่องจิตตภาวนา

วันที่ 26 มีนาคม 2549



ถามเรื่องจิตใช่ไหม. ถ้าพูดจริงๆ แล้วก็ สมาธิที่เรากำหนดก็มีหลายอย่าง คือครูบาอาจารย์ที่ท่านกำหนดๆ ท่านก็คงตามนิสัยของท่าน แต่ส่วนมากอาตมาก็ ถ้าชาวบ้านจะพูดว่าตามนิสัยเจ้าของนะ นิสัยคนอื่นก็ตามไม่ได้ เพราะว่าเป็นของเขา แต่ถ้าว่าถูกจริตโยม เอาไปทำประโยชน์ได้หรือเปล่า ก็ต้องคิดดูดีดี นิสัยบางคน กำหนดภาวนาใช้อสุภกรรมฐาน ก็กำหนดได้ หรือกำหนดเกสา อะไรแล้วแต่ ธาตุทุกธาตุน่ะ มันก็ใช้ได้ แต่อาตมาเนี่ยจะกำหนดเข้าใน เข้ามาข้างใน ส่วนมากที่กำหนด อาตมาจะกำหนดให้เห็นธาตุ ธาตุของอาตมาส่วนใดส่วนหนึ่ง แต่อาตมาปฏิบัติไว แต่ที่จะสอนนี่คือให้ได้ตามเหมาะสมในสภาวะที่โยมพอจะทำได้ ถ้าเรากำหนดถึงจิตของเราน่ะ เข้าไปในจิต นี่คือผู้รู้ ถ้าโยมไปภาวนาแล้วโยมบอกว่าไม่เข้าเลย มันก็ต้องมาเริ่มต้นใหม่ การเริ่มต้นใหม่ก็ไปทำวิธีแบบคนภาวนามาแล้ว มันต้องเข้มแข็งหน่อย ต้องหาวิธีกำหนด วิธีนึก ส่วนมากอาตมาจะสอนว่า นั่งหลับตาแล้วนึกธาตุตัวหนึ่งตัวใดของเรา ก็คืออัฐิธาตุ กระดูกของเรา จะกำหนดแถวนี้ไม่ได้ (แถวๆ หน้าอก) มันอึดอัด จิตมันรู้แต่มันไม่ลง แต่ถ้าเรากำหนดลงไปดูตรงกระดูกสันหลังเนี่ย จิตมันจะลงไป รวมลงไปได้ อย่างโยมเนี่ย ถ้าโยมนั่งภาวนา หลับตา โยมไม่ทันหรอก โยมลืมตา อยู่แบบไหนก็ได้ ไม่ต้องขัดสมาธิก็ได้ ทุกอิริยาบถน่ะ มันนึกได้ตลอด และการนึกตรงนี้ โยมลองลืมตา ปกติธรรมดาเนี่ยแหละ มองอะไรก็แล้วแต่ มองโทรทัศน์ มองอะไร แต่การนึกของเราเนี่ยให้มาอยู่ที่กระดูกสันหลัง เป็นการน้อมเข้ามา เป็นธรรม ถ้าไม่น้อมเข้ามาแล้วมันไม่ได้ ปีติใจ ปีติมันไม่ได้อยู่ที่หน้าผากนะ มันอยู่ภายในนะ ลึกๆ น่ะ ถ้าเรากำหนด ลืมตา นึกถึงกระดูกสันหลังของเราท่อนเดียว จินตนาการว่ากระดูกของเราอยู่ตรงอะไรก็แล้วแต่ เพราะว่ากระดูกมันไม่เคลื่อน อย่างอื่นน่ะ ถ้าดูตามลม ลมมันเคลื่อนตลอดเวลา มันแกว่งตลอดเวลาเลย ถ้าเรานึกลงไปตรงนี้เราจะเห็นสองอย่างเลยว่า คือผู้ที่ถูกเห็น กับผู้ที่เห็นมันต่างกันแน่นอน มันต่างกันเลย ถ้าเราไม่นึกอย่างนี้มันจะเห็นเป็นอย่างเดียวกัน เรานึกแต่จิต จิต จิตอันเดียว แต่พอดูตรงนี้มันแตกต่างกัน ข้างนอกนั้นไม่ใช่ ข้างนอกที่เราเห็นไม่ใช่แล้วนะ จิตที่เรานึกต่างหากนั่นคือของใช่ เพราะงั้นเราก็นึกดูกระดูกสันหลัง ท่อนเดียวนะ พยายามกระจายไปหลายท่อน พยายามนึก หลับตาก็ได้ แต่ส่วนมากหลับตาแล้วไม่ค่อยทัน ไม่ทันมันแน่นอนเลยฮะ ไวมากเลย โห ..มันเห็นสิ่งที่ไม่ต้องการเห็นน่ะ มันไปในสิ่งที่ไม่ต้องการไป นี่เราต้องมาต่อสู้กับพวกมันมากที่สุดเลย บางคนนั่งภาวนานะ สู้จนเจ็ดชั่วโมง สู้เฉยๆ นะ ต่อสู้กับอารมณ์เจ้าของน่ะ แล้วมันจบไหม มันไม่จบหรอกโยม มันไม่จบสิ้น สู้เท่าไหร่มันก็ไม่ชนะสักที ยิ่งสู้ก็ยิ่งมา ในทางที่ดีก็ไม่ต้องสู้เลย เรานึกกระดูกท่อนเดียวนั่นเอง มองปั๊บเดียวโยมก็เห็นทุกท่อน เอาท่อนเดียว หลับตาสู้ไม่ได้หรอก นั่งไปก็นึกไปข้างใน นึกไปเรื่อยๆ สมองของเราจะค่อยๆ เย็น มันจะดึงลงมา ความรู้สึกมันจะค่อยๆ ลง เหมือนเป็นสายน้ำ ค่อยๆ ลงไปหาจุดที่เรากำหนดเลย ผู้รู้จะเชื่อมเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน แต่ก่อนมันไม่ค่อยเชื่อม แต่ว่าตอนนี้มันจะเชื่อม ตรงผู้รู้ สมอง หัวใจมันจะลงมาอยู่จุดๆ เดียวกัน ไอ้สิ่งที่เราต้องการรู้มันจะชัดเจนขึ้น มันตัดข้างนอกหมดแล้ว มันจะเห็นตัวนี้ปุ๊บ ทุกสิ่งก็จะเบาลง สมองที่เคยอึดอัด เครียดทั้งหลายก็จะเบาลงไป การนั่งของเรา สภาพร่างกายของเรา รู้สึกจะรวมกันลงไปสู่จุดเดียวกัน พอถึงจุดที่เราควบคุมตรงนี้ได้ปุ๊บ จะเป็นกระดูกก็ได้ อย่าลืมนึกพุทโธด้วยนะ นึกพุทโธตรงกระดูกเนี่ย การพุทโธคือกำกับให้เกิดความรู้สึก เหมือนหัวใจเรามันจะไปดิ้นปุดๆๆ การนึกพุทโธนี่คือการกำกับ สติข้างนอกและสติข้างในให้รวมเป็นหนึ่งเป็นอันเดียวกัน ถ้าเรานึกตรงนี้บ่อยๆ สักพักหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าเราตัดหมดนะนึกตรงนี้แน่นอนแล้ว ได้หมด ข้างนอกไม่มีอะไรเกี่ยวข้อง จิตของเราก็สงบทันที มันขาดจากกัน มันสงบ มันสงบตรงนั้นไม่ได้ไปสงบที่ไหน สงบภายใน ไม่ใช่สงบภายนอก ไม่ใช่เรานั่งนิ่งๆ แล้วสงบ ไม่ใช่นะ สงบข้างในมันแตกต่างกันมาก เหมือนที่โยมกำลังกินข้าวเมื่อกี้ มันลงไปถึงกระเพาะใช่ไหม เราอิ่มใช่ไหม การภาวนาก็ต้องอิ่ม ไม่ใช่หิวโหย ไม่รู้จักอิ่มสักที

นั่งภาวนาก็ไม่อิ่มสักทีนึง เพราะว่าเราไม่ลงถึงจิต ไม่ถึงฐานของจิตที่แท้จริง มันก็ไม่อิ่ม เมื่อมันไม่อิ่มมันก็ไปแสวงหาตลอดเวลา การแสวงหาจบสิ้นไหม ไม่จบเลย อย่างอาตมาเนี่ยไม่ตามหรอก มันจะไปไหน อาตมาไม่จำเป็นต้องตามมันไป มันต้องตามเราสิ ไปตามมันทำไม พาคิดไปโน่นคิดไปนี่ ไม่เอา เราต้องการดูกระดูกของเราท่อนเดียวนี่ล่ะ จะดูให้เห็นนี่ล่ะ มันเดือดร้อนใครล่ะ เราต้องมีสัจจะในตัวเองด้วย พยายามดู ดูตลอดเวลา เวลากินข้าวก็นึกไป พยายามนึก ไม่ถึง 10 วัน โยมจะรู้เปลี่ยนนิสัยเลย ความรู้สึกที่มีจะแตกต่างกันมาก ความรู้สึกภายในจิตมันแตกต่างกันมาก มันเป็นอมตะ มันรู้สึกลึกซื้งมาก มีความสุขเกิดขึ้น ด้วยอำนาจธรรมน่ะ มันมีความสุข มันอิ่ม มันนั่งตรงไหนมันอิ่ม มันไม่วุ่นวาย เพราะจิตเข้าในมันไม่วุ่นวาย ความวุ่นวายทั้งหมดเพราะจิตมันไม่เข้าใน เพราะว่าตัวเองนั่งคนเดียวก็วุ่นจะตายอยู่แล้วนะ ยิ่งไปหาปัญหามาเยอะๆ มันก็ยิ่งวุ่นไปอีกนะ เพราะว่ามันรวมไม่ได้โยม ถ้างั้นโยมก็ดูตรงเนี้ย ดูให้เห็นกระดูกท่อนเดียวตรงนี้ ไม่ต้องเห็นหลายท่อน ถ้าเห็นหลายท่อนมันจะพาโยมเที่ยวไปเรื่อยๆ อย่างโยมจะเอาเป็นหนึ่งก็ไม่ได้ เห็นหนึ่งปุ๊บ มันเลื่อนเป็นสองสามสี่ห้าหกเจ็ดแปด .. พอโยมเพ่งให้เห็นเป็นหนึ่งปุ๊บ จิตโยมจะสงบ ไอ้กิเลสตัวที่ไม่ต้องการให้สงบ มันต้องการให้เห็นท่อนสองท่อนสาม มันเคลื่อนแล้ว มันก็สงบไม่ได้ จำไว้นะตรงนี้ ส่วนมาก ปัญหาตรงนี้ อยากเห็นท่อนหนึ่งอยู่ อีกท่อนหนึ่งมา นั่นแหละเราเข้าทางมันแล้ว ถ้าอย่างอาตมา ไม่ได้นะ ท่อนไหนที่ต้องการดูคือท่อนนั้น คุณต้องการกี่ท่อน ไม่จำเป็น ไม่ตาม ไม่รู้จะตามไปทำไม ท่อนไหนก็อันเดียวกันนั่นแหละ ถ้าเรามีสัจจะกับตัวเองตรงนี้ มีความตั้งมั่นอยู่กับตัวเองตรงนี้ สักระยะหนึ่ง โยมจะรู้เลย มันแตกต่างกันจริงๆ รู้สึกมันโปร่งขึ้น มันเบาขึ้น จิตตรงนี้จะรู้เลย ถ้าเราพิจารณาของเรา ให้จิตถึงละเอียดสุด ธาตุของเราต้องละลายอยู่แล้ว กระดูกต้องละลายอยู่แล้ว ไม่ใช่จิตนะ กระดูกไม่ใช่จิตนะ กระดูกไม่ใช่ผู้รู้นะ แต่ที่เราจะได้ผู้รู้เราต้องทำลายตัวนี้ก่อน เอาตัวรู้ให้รู้จักตัวนี้ก่อน รู้จักธาตุก่อน ทำลายธาตุทิ้งไปแล้ว ถึงจะมีผู้รู้ส่วนหนึ่ง ลึกลงไปอีก รู้ตรงนั้นไม่เกี่ยวกับธาตุแล้วนะ มันรู้โดยธรรมชาติของมันเอง มันรู้ซ้อนรู้ เขาเรียกผู้รู้แยกผู้รู้ เพราะว่ามันซ้อนกัน มันเป็นอย่างนั้น แต่ว่าต้องรู้จักธาตุก่อน บางคนไม่รู้จักธาตุ แต่มันสงบไปเลย ที่สงบทุกครั้งจิตต้องเป็นหนึ่งเท่านั้น แต่ต้องเข้าในเท่านั้นจึงจะสงบ สงบแล้วจริงด้วย ได้ของจริงด้วย สงบข้างในนะ แต่ถ้าสงบข้างนอก เหมือนโยมนั่งนิ่งๆ อย่างนี้ไม่สงบนะ อันนี้เป็นการระวังเฉยๆ ระวังตัวเองเฉยๆ ไม่ได้อะไร ว่ามีความปีติ อิ่มเอิบในใจ ไม่ใช่นะ บางครั้งเป็นความกังวล เป็นคนที่หน้าก็ไม่ปกติ มันเครียด ใบหน้าก็ไม่อยากคบแล้ว มันไม่อิ่ม มันไม่เบิกบาน ถ้าเข้าในแล้วไม่ต้องระวังข้างนอกแล้ว โยมไม่ต้องตัดหรอกกิเลสน่ะ โยมดูตรงนั้น เห็นตรงนั้นชัดแล้ว มันก็ไม่ต้องไปตามมันแล้ว เพราะที่เรานั่งตัด เราไม่เห็นตรงนี้ แล้วเราไปตัดตรงไหนอ่ะ มันต้องเห็นจุดนี้ก่อน กิเลส อาตมาว่าเมื่อเราไปเห็นจิตแล้ว จิตของเราไม่ไปตามอารมณ์ของกิเลส มันก็ไม่จำเป็นต้องไปตัดมันหรอก เพราะมันไม่กวนเราอยู่แล้ว



การกำหนดจิต เหมือนหลอดไฟในบ้าน เรามีสวิทช์เดียวจุดใหญ่ที่ไฟจะเข้ามาในบ้าน หลอดเรามีหลายดวง แต่ถ้าเราไปเดินปิดหลอด มันไม่จบสิ้น เหนื่อย บางครั้งอยู่สูงก็ต้องปีนไปปิด แต่ถ้าโยมรู้ว่าจะปิดพร้อมกันได้ ล้านๆ ดวง มีสวิทช์เดียวเท่านั้นแหละ เรามาดูตรงสวิทช์ตรงนี้ดีกว่า ดึงลงปุ๊บมันก็ดับหมด เอาแค่ปิดสวิทช์ในบ้าน มันก็จบไปเอง ทุกๆ อย่างก็ค่อยเบาไปหมด ลักษณะจิตจะเป็นแบบนี้



จิตเราเมื่อพิจารณาธาตุจนเป็นไตรลักษณ์ไปหมดแล้ว จิตของเรามันจะถึงธาตุรู้ ธาตุรู้ตรงนี้มันอยู่ตลอดเวลา ทุกนาที ทุกวินาทีเลย รู้ลึกมาก ไม่ใช่รู้ตื้นๆ นะ มีสิ่งที่เข้าถึงก็คือธรรมชาตินั่นเอง จิตตรงนั้นจะปลอดภัย มันไม่ตกเป็นทาสอะไรทั้งนั้น จิตจะเป็นปกติ รู้อยู่ของเขา ไม่วุ่นวาย ไม่ออกมารับข้างนอก ไม่มีตัวไหนไปแทรกให้เขาออกมารับได้เลย เหมือนน้ำบาดาล น้ำฝนมันลงไม่ถึง อย่างมากก็ชื้นอยู่ที่ผิวดิน ลงไปก็ไม่เกินสองเมตร จิตของเราโน่น มันไปถึงร้อยๆ เมตร



เพราะฉะนั้นการภาวนาเนี่ย เคยภาวนามาทั้งหมด โยมคิดจะสู้มัน หลับตาสู้ไม่ได้ ทำยังไงก็ไม่ได้ สักพักหนึ่งเท่านั้นแหละ หายไปแล้ว กระดูกท่อนๆ คลำเจอมองไม่เห็นแล้ว มันโมโหไหม เอามือไปคลำแล้วมันอยู่ตรงนี้ทำไมมองไม่เห็นสักที ก็ให้รู้ว่าสติของเรามันไม่อยู่ตรงนี้ ถ้าสติมันอยู่มันต้องเห็น บางคนบอกอยู่ แล้วอยู่ทำไมไม่เห็น ถ้าอยู่จริงๆ สมบูรณ์จริงๆ ชัดเลยโยม นี่สิ่งที่พิสูจน์ความเห็นของเราชัดเจนเลยนะ ถ้าโยมบอกว่า โอ๊ย จิตของฉันก็อยู่ในตัวเนี่ยน่ะ ถามว่าเอากระดูกท่อนเดียว เจอไหม บอกว่าไม่เห็นเลย ไม่ใช่แล้ว อันนั้นมันเป็นสติข้างนอก ไม่ใช่สติด้วยธรรม ถ้าสติด้วยธรรมมันจะมองเห็นทุกส่วนของร่างกาย มันเป็นอย่างนั้นนะ ไม่ใช่ธรรมดานะ จริงๆ ไม่ว่าเข้าระดับฌาน ญาณ ทั้งหมด มันก็มาจากสตินำทั้งหมดนั่นแหละ ไม่ว่าฌาน ญานไหนก็แล้วแต่ ต้องมีระดับขั้นของสติ ผู้นำไปรู้จุดหมายปลายทางตรงนั้น เป็นช่วงๆ ไป เหมือนเข้าฌานนี้ ถอนออกฌานนี้เข้าฌานโน้น มันก็คือตัวสตินั่นแหละ สติมันกำกับไป มันละเอียดเป็นขั้นตอนของมัน ก็ดูตรงนี้ ไปดูหนังสือมากๆ ไม่ไหวโยม มันเยอะเหลือเกิน หนังสือเป็นเล่มๆ เลย ไม่ไหวหรอก อาตมาไม่มีเวลาไปอ่านหนังสือธรรมะ เพราะมันเยอะเกินไป ไม่ไปอ่านมันหรอก อาตมามาดูกระดูกอาตมาดีกว่า มันน้อยๆ ด้วยนะ ไปดูฤทธิ์เดชของคนโน้นคนนี้ ไม่ต้องหรอก มาดูฤทธิ์เดชของเราดีกว่า ตามมาดูตรงนี้มันจะเบา เพราะบางครั้งโยมภาวนาเสร็จ จิตโยมลงนิดเดียวโยมก็ไปตีความเอาแล้ว ไปตีความมันก็เลยไม่สงบ ไปตีความหมายมันหมดเลย เหมือนกับตัวเองฉลาดมาก เดินก่อนเลย บางครั้งหนังสือนี่ตัวนำไปเลย แทนที่จะได้ของจริงก็ได้ของปลอมไป หนังสือทั้งหมดไม่ใช่ปฏิเสธไม่ให้อ่านนะ แต่เราอ่านในสิ่งที่ถูกจริตที่สุด อ่านหนังสือคืออ่านให้เกิดปีติในจิต บางคนอ่านหนังสือไปปุ๊บมันจะเกิดถูกใจ มีบรรทัดหนึ่ง บรรทัดสองจิตรับ ปิดหนังสือปั๊บเลย เราอ่านหนังสือให้ค้นหาจิตที่จิตยอมรับคำเทศน์ของครูบาอาจารย์ ในธรรมะบทใดบทหนึ่งขึ้นมา ถ้าจิตยอมรับปุ๊บ ปิดหนังสือปั๊บ นั่งหลับตาเลย ดูไปนะ ดูไอ้ตรงที่ยอมรับน่ะ ตัวนั้นล่ะ ตัวจริงโยม บางคนยิ่งอ่านยิ่งเบิกบานเลยอ่านหมดเล่มเลย ไม่ได้เรื่องเลย พออ่านไป สุดท้ายไม่ได้ผลจากหนังสือเลย หนังสือเขาเป็นการปลุกปิติจิตของเรา ปิติมันอยู่ภายใน มันปลุกขึ้น เกิดความเบิกบานขึ้น โอ..ธรรมะครูบาอาจารย์นี่ พออ่านเจอ ปิดหนังสือเลย เราดูตรงนี้ สักพักนึงมันหายไป โยมก็ค่อยอ่าน อ่านจากเริ่มต้นถึงตรงนี้ ที่มันเกิดปิติไม่ใช่อ่านเลยไปนะ ถ้าโยมอ่านเลยก็ไม่จบอีกล่ะ เพราะอ่านต่อไปมันไม่มีปิติแล้ว เราต้องไปเชื่อมตรงที่เกิดตรงนี้ เหมือนรถทุกคันที่จะไปอีสานน่ะ มันต้องอยู่ที่หมอชิตใช่ไหม ถ้าโยมจะขึ้นรถไป โยมก็ต้องมาหมอชิต มาที่นี่ไม่ต้องไปขึ้นแถวรังสิตหรอก มันลัดไปแล้ว ไอ้ปิติมันไม่ได้อยู่ที่รังสิต มันอยู่ที่หมอชิต เราก็ต้องมาดูตรงนี้เกิดตรงนี้ปุ๊บก็ดูตรงนี้เลย ปัญหามันอยู่ที่ตรงนั้น พวกเราโห..มีหนังสือกี่ร้อยเล่มก็ไม่รู้ อ่านเกลี้ยงเลย เก่งมากนะ แต่อ่านแล้วไม่เห็นมันเอร็ดอร่อยเลยนะ อ่านไปก็จืดชืดอยู่ดีดีให้ตรงนั้นน่ะ ให้มันเกิดปีติ ให้จุดชนวนที่จิตของเราปุ๊บ ธรรมะครูบาอาจารย์ อาตมานะฟังแล้วถูกใจปุ๊บ เราจับตรงนั้นล่ะ ถูกใจน่ะ เราจับความรู้สึกลึกๆ ตรงนั้นน่ะ ตรงที่ถูกใจไว้ ท่านจะเทศน์จะพูดอะไรแล้วแต่ แต่เราจับตรงนี้ไว้ก่อน ถ้าท่านเทศน์ปุ๊บ เราถูกใจปุ๊บ เราเอาตรงนี้ จิตของเราลงได้ เราเอาตรงนี้ ถ้าท่านเทศน์แล้วจิตรวมไม่ได้ ก็ไม่เอา ไม่ถูกจริตแล้ว คือมันต้องฟังเป็นรู้สึกเป็น มันเป็นอย่างนั้น ทีนี้ครูบาอาจารย์ท่านพูดๆปุ๊บ มันไปลงจิตของเราที่ค้างๆ กัน มันทะลุปั๊บไป เราก็ตามมันลงไปตรงนั้น คือท่านเทศน์มาร้อยคำมีคำเดียว คำหนึ่งที่ทำให้จิตเราลง เราเอาตรงนั้นเอง เราถึงจะลงไปได้ตลอด



อาตมาฟังเทศน์หลวงตามหาบัวนี่ ส่วนมากเอาผู้รู้ฟังเลยฮะ หูได้ยินอยู่ แต่การเรียงลำดับเทศน์ของครูบาอาจารย์ คือจิตมันเรียงเอง พอท่านเทศน์ปุ๊บๆๆ ถ้าท่านเทศน์ไปกัณฑ์หนึ่ง แต่ไม่ทำชนวนให้เกิดขึ้นเลย ก็ไม่เป็นไร เราก็ฟังไป แต่พอมีบางครั้งที่เทศน์ปุ๊บ แล้วทำให้เกิดความรู้สึกปุ๊บ เออ..ใช่ จิตมันมีพลัง แค่นิดเดียว ครึ่งนาที ไม่ถึงหนึ่งนาที แป๊บเดียวเท่านั้นเอง จิตมีกำลังเยอะเลย เหมือนที่เข้าบอกว่าจิตของเราสงบแค่งูแลบลิ้น แค่นี้เราอยู่ได้เป็นสิบปี การฟังธรรมก็เป็นแบบนี้ ถ้าเราฟังธรรมเรื่องอัศจง อัศจรรย์ ถ้าเราจะตั้งจิตไว้เป็นกำลังอยู่ภายใน เราต้องฟังเรื่องจิตอย่างเดียว ถ้าเราต้องการอย่างโน้นเราก็วางจิตไว้ธรรมดา อาตมานี่ฟังเทศน์นี่หลับตาตลอดเลย ครูบาอาจารย์ท่านเทศน์ไป ถูกจิตเราปุ๊บ เราก็รับเลย นี่ล่ะจิตของเราจะก้าวหน้า



โยมนี่ก็กำหนดตรงกระดูกก็แล้วกัน ไม่ต้องหลับตาหรอก ลืมตาดูอะไรก็ดูไป ดูรูปก็ได้ หลับตาแล้วมันจะไปที่อื่น ก็เลยดูรูปนี่ไป แต่ผู้รู้มันอยู่ตรงนี้ หลับตาลง มันก็หายไป โยมทำตรงนี้ ไม่ต้องทำอย่างอื่นหรอก เดี๋ยวมันจะดีเอง

 
  Today, there have been 10 visitors (16 hits) on this page!  
 

Tracked by Histats.com

This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free