วัดเขาศาลาอตุลฐานะจาโร อ.บัวเชด จ.สุรินทร์
   
  วัดเขาศาลา watkaosala.com
  ธรรมะหลวงพ่อ
 


  
ธรรมะของพระอาจารย์เยื้อน นั้นง่ายๆ ท่านสอนเน้นอยู่ที่จิต ปฏิบัติอยู่ที่จิตอย่างเดียว  ท่านเคยปรารภว่า ถ้าใครหวังจะมาถามการปฏิบัติแบบอื่นๆ ท่านไม่มี ธรรมที่ท่านมีเปรียบเสมือนตีหลุมกอล์ฟ ตีครั้งเดียวลงหลุม  ไม่ได้ผ่านต้นไม้ ไม่ผ่านหลุมทราย....

ฟังและดาวน์โหลดเสียงธรรมของหลวงพ่อ...--> http://watkaosala.page.tl/Dhamma.htm 


@  บทความจากลูกศิษย์ท่านหนึ่ง

สมาธิที่ผมได้เรียนรู้จากหลวงพ่อ

เวลานั่งสมาธินั้น หลวงพ่อไม่พิถีพิถันมากนัก
โดยเฉพาะอิริยาบถนั่งสมาธินั้น หลวงพ่อไม่กำหนดตายตัวเลย
แต่ให้หลักสั้น ๆ ง่าย ๆ ว่า ให้ดำรงสติมั่น ตั้งอยู่ ณ จุดเดียวให้ได้

ถ้าใจจดจ่ออยู่ ณ จุดเดียวแล้ว อริยาบถไม่สำคัญ จะอยู่ท่าไหนขอให้ประคองสติ และกำหนดใจให้อยู่จุดเดียวนั้นให้ได้เป็นใช้ได้ 

สมาธิของหลวงพ่อเป็นสมาธิตื่น จะลืมตาหลับตา หรืออยู่ในอริยาบถไหนก็ได้ทั้งนั้น
สำคัญที่จิตนิ่ง สติสามารถรักษาฐานจิตให้นิ่งอยู่ภายใน ณ จุดที่กำหนดระลึกได้เท่านั้น

ถ้าสติรักษาจิตให้นิ่งอยู่ได้ ไม่หวั่นไหว แม้จะขยับตัวไปไหน ขยับกายอย่างไรก็ไม่ใช่เรื่องสำคัญ
เพราะหลักอยู่ที่จิต ไม่ใช่กาย ไม่ใช่ของนอก แต่เป็นภายในที่รักษาไว้

การรักษาฐานจิตก็ไม่ใช่ว่าตั้งใจกำหนดให้มันเกิด มันเป็นขึ้นมา เพียงปฏิบัติไปตามธรรมชาติ
ตั้งใจจดจ่ออยู่ตรงฐานแต่เพียงอย่างเดียว ไม่เอาอารมณ์อยากมาปะปน เพราะปะปนแล้วจะให้มันเกิดมันก็ย่อมไม่เกิด เพราะอาการนั้นไม่ได้เป็นไปโดยธรรมชาติ

ส่วนอุบายธรรม จะกำหนดสมาธิอย่างไร หลวงพ่อก็ไม่ถือเป็นสาระ เพียงแต่ให้ตั้งฐาน ณ เหนือสะดือขึ้นมาสองนิ้ว 

ผู้ที่เคยชินกับอานาปานสติ หลวงพ่อ ท่านก็เพียงแต่อธิบายดักไว้ว่า เมื่อถึงจุดหนึ่งที่รู้สึกไม่มีลมหายใจ มันจะจับยาก แต่ถ้ารู้ก็จับอาการที่ไม่มีลมนั้นแหละ

ถ้าไม่ไหวก็ถอยออกมาตั้งที่กระดูกสันหลังท่อนที่ตรงกับฐานแทน
ให้จิตจดจ่ออยู่แค่ฐานจุดเดียว จะได้ไม่ต้องไปพะวงกังวลกับลมหายใจ พอดีไปไหนไม่ได้สักที

เมื่อนั่งสมาธิถึงจุดหนึ่งแล้ว สมาธิจะรวมศูนย์เป็นหนึ่งเดียว
สภาพนั้น ลืมกายภายนอก จดจ่ออยู่เป็นตำแหน่งเดียวไม่หวั่นไหว
เมื่อนั้นให้สติตามรู้อาการ อย่าไปคิดกำหนดอะไรอีก (ถ้าคิดกำหนดมันก็จะถอยหลัง)
จิตจะทำหน้าที่ของมันเอง หรือที่เรียกว่าจิตรู้

จิตรู้นี้รู้หน้าที่ของตนเอง จะน้อมนำพิจารณาเห็นไตรลักษณ์
ถึงตรงนี้แล้วท่านที่ผ่านมาแล้วจะพบกับประสบการณ์อย่างหนึ่ง
(ประสบการณ์นี้ไม่สมควรเขียนเป็นปริยัติ เพราะจะทำให้ผู้ปฏิบัติหมายจำเป็นสัญญา ซึ่งจะกลายเป็นอุปสรรคอยากเห็น รอจะเห็น ยิ่งพะวงไปไม่ถึงไหนเสียป่าวๆ)

ในช่วงรอยต่อนี้ มักมีอุปสรรคใหญ่รออยู่อีกอย่างหนึ่งตามจริตจุดอ่อนของผู้ปฏิบัติ
หลวงพ่อมักเน้นย้ำให้บรรดาลูกศิษย์ตั้งสติเตรียมใจไว้ให้ดี และพร้อมตั้งรับเสมอ
เพราะจุดนี้จะติดหลงอยู่ในวิปัสสนูได้ง่ายๆ นับเป็นด่านสำคัญที่ผู้ปฏิบัติทุกรายจะต้องผ่านไปให้ได้

ถ้าสติไม่รู้เท่ารู้ทันอาการต่างๆที่เป็น ที่เกิด ที่เห็นที่ได้มาในขณะนั้นแล้ว มักจะพลอยหลงเชื่อ พลอยเข้าใจผิด หรือหยุดอยู่แค่นั้นโดยไม่ไปต่อ โดยไม่ทราบว่าไปได้อีก กลายเป็นหลงประเด็นหลงวนอยู่ ทั้งที่ใกล้จะไปถึงอยู่แล้ว

แต่ถ้าตั้งสติดีจิตนิ่ง ไม่หวั่นไหว ไม่เผลอไผลกับสิ่งที่ได้พบเห็นแล้ว
สภาวะจิตจะเคลื่อนไปถึงขั้นต่อไป ที่จิตประภัสสร เป็นจิตรู้

รู้อะไร คือ รู้เห็นเท่าทันโลก เท่าทันอวิชชา เท่าทันกิเลส จิตตื่น และเบิกบานอย่างแท้จริง
โดยอาการนั้น ผู้ปฏิบัติเองจะรู้ได้ด้วยตนเอง โดยรู้สติเปรียบเทียบทดสอบปฏิกริยาตนเองจากสิ่งต่างๆที่มากระทบ

เห็นอารมณ์ รู้เท่าทันอารมณ์โดยเร็ว เมื่อรู้เท่าทันจิตจึงสงบระงับไปเอง เชื้อกิเลสจึงหมดโอกาสแสดงผล อารมณ์ที่เป็นไปตามธรรมชาติเกิดอาการรู้ทันสิ้น

ความรู้ทันนี้ต่างจากการปฏิบัติเดิม เพราะการปฏิบัติเดิมนั้น เป็นเพียงนึกทัน นึกรู้ทัน สังเกตทัน เป็นอาการที่สติพิจารณาเอา ใช้ความคิดตรึกพินิจ

แต่ความรู้ทันที่ได้นี้ เป็นความรู้ทัน คือกล่าวได้ว่ารู้ทันเพราะมันเป็นเช่นนั้นเอง เป็นโดยธรรมชาติ ปราศจากการปรุงแต่ง นอกจากนั้นยังน้อมนำไปหาไตรลักษณ์

อาการไตรลักษณ์นั้นอธิบายได้ยาก
สิ่งที่แตกต่างจากที่ปฏิบัติเดิมนั้น ผมพิจารณาไตรลักษณ์โดยการพินิจ สติพิจารณาเห็นไตรลักษณ์ไปตามลักษณะเด่นของอาการไตรลักษณ์ที่เกิดก่อน หรือเห็นก่อน อันไหนเกิดก่อนพิจารณาอันนั้น

แต่อาการไตรลักษณ์ที่ได้จากการปฏิบัตินี้ ถ้าจะเปรียบเสมือนเรากินน้ำพริก แล้วรับรู้รสเปรี้ยว หวานเผ็ด แทบจะพร้อมๆกันนั่นเอง 

การเห็นไตรลักษณ์นั้นมาทีเดียว เห็นทั้งหมดไปพร้อมๆกัน อาการเห็นนี้เร็วจนไม่สามารถลำดับเรียบเรียงให้เป็นที่เข้าใจได้ง่าย

สิ่งที่สังเกตได้อย่างหนึ่ง ในฐานะผู้ศึกษามากรู้มาก 

ในบรรดาลูกศิษย์จะทราบว่าหลวงพ่อสอนแต่หลักสำคัญสั้นๆ อะไรที่ไม่จำเป็นให้เพิกทิ้งเสียเอาแต่สาระสำคัญเท่านั้น

แม้เรื่องนิมิต หลวงพ่อก็ไม่ถือเป็นสาระสำคัญ ไม่ว่าจะเห็นอะไรหลวงพ่อให้เพิกทิ้งเสียให้หมด
ไม่ต้องติดไม่ต้องจดจ่อกับสิ่งที่เห็นสักอย่าง ปล่อยวางทิ้งหมด สนใจแต่การตั้งฐานจิตให้นิ่งสนิท ณ จุดที่กำหนด ให้สม่ำเสมอเท่านั้น

การตั้งจิตให้นิ่งสงบนี้ อุปมาเหมือนถือแก้วน้ำที่มีน้ำเต็มปริ่มพอดีขอบให้นิ่งสนิท ไม่โยกไม่โอน
ผู้ตั้งต้องตั้งจิตจดจ่ออยู่ ณ จุดเดียวเรื่องเดียวจริงๆ

แม้ในรายละเอียดลำดับของสมาธิแล้ว สำหรับในหมู่ผู้ที่หลวงพ่อเพิ่งสอนปฏิบัติก็จะไม่พูดถึงรายละเอียดลำดับ มุ่งให้ใจผู้ปฏิบัติสนใจจดจ่ออยู่แต่เรื่องเดียว คือตั้งฐานจิตให้นิ่งสนิทจริงเท่านั้น

การทำเช่นนี้ ทำให้ผู้ที่เคยเรียนมามาก อ่านมาก รู้จักสัญญาหมาย จำหมายไว้อย่างผม
ไม่ต้องมานั่งคิดถึงเรื่องปฐมฌาณ ทุติฌาณ ฯลฯ ให้รกสมองเปลืองสมอง
เมื่อจิตไม่แกว่งไกว จิตไม่ตั้งคำถาม จิตไม่กังวลสงสัย สนใจแต่จะตั้งฐานจิตให้นิ่งอยู่เรื่องเดียว
จิตมันจดจ่อ มันก็นิ่งลงได้เร็ว เกิดอาการรวมจิตนิ่งสนิทเป็นพิเศษ และไม่เกิดอาการแกว่งไกวนึกว่าอาการเหล่านี้คือลำดับไหน ถึงไหน จิตก็พ้นภาระโดยธรรมชาติ ไม่ติดไม่เกี่ยวกับความอยากรู้ลำดับจิตที่จะเกิดขึ้น ที่จะเป็นไป

การปฏิบัติเดิมที่เคยติดขัดก็เลยปรุโปร่ง ได้มีโอกาสสัมผัสสภาวธรรมในลำดับต่อไปอันมีค่ายิ่งต่อชีวิต

กระผมขอน้อมระลึกกราบขอบพระคุณพระอาจารย์ในโอกาสอันยิ่งนี้ครับ

นี่แหละที่เขาว่า ผู้ปฏิบัติหากขาดอาจารย์ผู้สั่งสอนแล้ว จะดั้นด้นหาทางด้วยตัวเองนั้นยาก 

------------------------------------------------------------------------------->>>







 
  Today, there have been 14 visitors (130 hits) on this page!  
 

Tracked by Histats.com

This website was created for free with Own-Free-Website.com. Would you also like to have your own website?
Sign up for free